×
กล่าวถึงหลักฐานต่างๆ จากอัลกุรอานและหะดีษเกี่ยวกับพฤติกรรมการโกหก อันเป็นลักษณะนิสัยหนึ่งที่น่าตำหนิ ซึ่งอัลลอฮฺตะอาลาและเราะสูลของพระองค์ทรงสั่งห้ามอย่างเด็ดขาด เป็นบทความจากหนังสืออัด-ดุร็อรฺ อัล-มุนตะกอฮฺ ของเชคอะมีน อัช-ชะกอวีย์

    พิษภัยของการโกหก

    ] ไทย – Thai – تايلاندي [

    ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์

    แปลโดย : อุศนา พ่วงศิริ

    ตรวจทานโดย : อัสรัน นิยมเดชา

    ที่มา : หนังสือ อัด-ดุร็อรฺ อัล-มุนตะกอฮฺ มิน อัล-กะลีมาต
    อัล-มุลกอฮฺ

    2013 - 1434


    خطورة الكذب

    « باللغة التايلاندية »

    د. أمين بن عبد الله الشقاوي

    ترجمة: حسنى فوانجسيري

    مراجعة: عصران نيومديشا

    المصدر: كتاب الدرر المنتقاة من الكلمات الملقاة

    2013 - 1434

    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    พิษภัยของการโกหก

    มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ขอความสุขความจำเริญและศานติจงประสบแด่ศาสนทูตของพระองค์ ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺเพียงองค์เดียว ไม่มีภาคีใดๆ สำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่ามุหัมมัดเป็นบ่าวของอัลลอฮฺและเป็นศาสนทูตของพระองค์

    การโกหกเป็นลักษณะนิสัยหนึ่งที่น่าตำหนิซึ่งอัลลอฮฺ ตะอาลาและเราะสูลของพระองค์ทรงสั่งห้ามอย่างเด็ดขาด โดยผู้ที่มีนิสัยดังกล่าวจะได้รับโทษอันแสนเจ็บปวดในอาคิเราะฮฺ อัลลอฮฺตรัสว่า:

    ﴿ وَيَجۡعَلُونَ لِلَّهِ مَا يَكۡرَهُونَۚ وَتَصِفُ أَلۡسِنَتُهُمُ ٱلۡكَذِبَ أَنَّ لَهُمُ ٱلۡحُسۡنَىٰۚ لَا جَرَمَ أَنَّ لَهُمُ ٱلنَّارَ وَأَنَّهُم مُّفۡرَطُونَ ٦٢ ﴾ [النحل: ٦٢]

    ความว่า: "และพวกเขาตั้งสิ่งที่พวกเขาชิงชังให้อัลลอฮฺ และลิ้นของพวกเขากล่าวเท็จขึ้นว่าสำหรับพวกเขานั้นคือสิ่งที่ดีเยี่ยม โดยแน่นอนสำหรับพวกเขานั้นคือไฟนรก และพวกเขาจะถูกส่งล่วงหน้าไปก่อน" (อัน-นะหลฺ: 62)

    การโกหกยังเป็นลักษณะนิสัยของพวกผู้ปฏิเสธและผู้กลับกลอก ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสว่า:

    ﴿ وَالَّذِينَ اتَّخَذُوا مَسْجِدًا ضِرَارًا وَكُفْرًا وَتَفْرِيقًا بَيْنَ الْمُؤْمِنِينَ وَإِرْصَادًا لِمَنْ حَارَبَ اللَّهَ وَرَسُولَهُ مِنْ قَبْلُ وَلَيَحْلِفُنَّ إِنْ أَرَدْنَا إِلَّا الْحُسْنَى وَاللَّهُ يَشْهَدُ إِنَّهُمْ لَكَاذِبُونَ 107 ﴾ [التوبة: 107]

    ความว่า: "และบรรดาผู้ที่ยึดเอามัสยิดหลังหนึ่งเพื่อก่อให้เกิดความเดือดร้อนและปฏิเสธศรัทธา และก่อให้เกิดการแตกแยกระหว่างบรรดามุอ์มินด้วยกัน และเป็นแหล่งส้องสุมสำหรับผู้ที่ทำสงครามต่อต้านอัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์มาก่อน และแน่นอนพวกเขาจะสาบานว่า เราไม่มีเจตนาอื่นใดนอกจากที่ดี และอัลลอฮฺนั้นทรงเป็นพยานยืนยันว่า แท้จริงพวกเขานั้นเป็นพวกกล่าวเท็จอย่างแน่นอน" (อัต-เตาบะฮฺ: 107)

    และตรัสอีกว่า:

    ﴿ فَمَنۡ أَظۡلَمُ مِمَّنِ ٱفۡتَرَىٰ عَلَى ٱللَّهِ كَذِبًا أَوۡ كَذَّبَ بِ‍َٔايَٰتِهِۦٓۚ إِنَّهُۥ لَا يُفۡلِحُ ٱلۡمُجۡرِمُونَ ١٧ ﴾ [يونس : ١٧]

    ความว่า: "ดังนั้น ผู้ใดเล่าจะอธรรมยิ่งกว่าผู้กล่าวเท็จต่ออัลลอฮฺ หรือผู้ปฏิเสธบรรดาโองการของพระองค์ แท้จริงบรรดาผู้ทำผิดนั้นย่อมไม่บรรลุความสำเร็จ" (ยูนุส: 17)

    ท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า:

    « آيَةُ الُمنَافِقِ ثَلاَثٌ: إِذَا حَدَّثَ كَذَبَ، وَإِذَا وَعَدَ أَخلَفَ، وَإِذَا اؤْتُمِنَ خَانَ » [البخاري برقم 33 ومسلم برقم 59]

    ความว่า: "สัญลักษณ์ของผู้กลับกลอก (มุนาฟิก) มีสามประการ คือ เมื่อเขาพูดเขาจะโกหก เมื่อเขาสัญญาเขาจะบิดพลิ้ว และเมื่อเขาได้รับอะมานะฮฺในสิ่งใดเขาก็จะคดโกง" (บันทึกโดย อัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 33 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 59)

    และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ยังได้บอกอีกว่าการโกหกนั้นเป็นสาเหตุให้ได้รับโทษในนรก ดังหะดีษของท่านอับดุลลอฮฺ บิน มัสอูด เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า:

    «عَلَيْكُمْ بِالصِّدْقِ فَإِنَّ الصِّدْقَ يَهْدِيْ إِلَى البِّرِ وَإِنَّ البِّرَ يَهْدِيْ إِلَى الجَنَّةِ، وَمَا يَزَالُ الرَّجُلُ يَصْدُقُ وَيَتَحَرَّى الصِّدْقَ حَتَّى يُكْتَبَ عِنْدَ اللهِ صِدِّيْقًا، وَإِيَّاكُمْ وَالكَذِبَ فَإِنَّ الكَذِبَ يَهْدِيْ إِلَى الفُجُوْرِ وَإِنَّ الفُجُوْرَ يَهْدِيْ إِلَى النَّارِ، وَمَا يَزَالُ العَبْدُ يَكْذِبُ وَيَتَحَرَّى الكَذِبَ حَتَّى يُكْتَبَ عِنْدَ اللهِ كَذَّاباً» [البخاري برقم 6094 ومسلم برقم 2607]

    ความว่า: "พวกท่านทั้งหลายจงยึดมั่นในความสัตย์จริง เพราะความสัตย์จริงนั้นจะนำพาไปสู่ความดี และความดีจะนำพาไปสู่สวนสวรรค์ ผู้ใดก็ตามที่มีความสัตย์จริง และใฝ่หาความสัตย์จริง เขาจะได้รับการบันทึก ณ ที่อัลลอฮฺว่าเป็นผู้ที่ยึดมั่นในความสัตย์จริง และพวกท่านทั้งหลายจงพึงระวังการโกหก เพราะการโกหกนั้นจะนำพาไปสู่ความชั่วร้าย และความชั่วร้ายจะนำพาไปสู่ไฟนรก ผู้ใดก็ตามที่ชอบโกหก และฝักใฝ่การโกหกอยู่เป็นนิจ เขาก็จะถูกบันทึก ณ ที่อัลลอฮฺว่าเป็นจอมโกหก" (บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 6094 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 2607)

    ผู้ที่โกหกจนเป็นนิสัยนั้นจะถูกลงโทษในหลุมศพก่อนการลงโทษในวันกิยามะฮฺ ดังปรากฏในหะดีษซึ่งบันทึกโดยท่านสะมุเราะฮฺ บิน ญุนดุบ เราะฏิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวในหะดีษที่เล่าเรื่องความฝันของท่านว่า:

    « فَأَتَيْنَا عَلَى رَجُلٍ مُسْتَلْقٍ لِقَفَاهُ، وَإِذَا آخَرُ قَائِمٌ عَلَيْهِ بِكَلُّوْبٍ مِنْ حَدِيْدٍ، وَإِذَا هُوِ يَأْتِيْ أَحَدَ شِقَّيْ وَجْهِهِ فَيُشَرْشِرُ شِدْقَهُ إِلَى قَفَاهُ، وَمَنْخِرَاهُ إِلَى قَفَاهُ، وَعَيْنَاهُ إِلَى قَفَاهُ » قال : « ثُمَّ يَتَحَوَّلُ إِلَى الجَانِبِ الآخَرِ فَيَفْعَلُ بِهِ مِثْلَ مَا فَعَلَ بِالجَانِبِ الأَوَّلِ، فَمَا يَفْرُغُ مِنْ ذَلِكَ الجَانِبِ حَتَّى يَصِحَّ الأَوَّلُ كَمَا كَانَ، ثُمَّ يَعُوْدُ فَيَفْعَلُ بِهِ مِثْلَ مَا فَعَلَ بِهِ المَرَّةَ الأُوْلَى »، فسأل عنه النبى صلى الله عليه وسلم فقيل له: « إِنَّهُ الرَّجُلُ يَغْدُو مِنْ بَيْتِهِ فَيَكْذِبُ الكَذِبَةَ تَبْلُغُ الآفَاقَ » [البخاري برقم 7047]

    ความว่า "แล้วเราก็เดินผ่านชายคนหนึ่งซึ่งอยู่ในสภาพนอนหงาย โดยมีชายอีกคน (มลาอิกะฮฺ) ยืนคร่อมลงโทษเขาด้วยท่อนเหล็ก ชายคนนั้นยืนอยู่ทางด้านหนึ่งของใบหน้าเขา แล้วใช้ท่อนเหล็กทิ่มปากจนทะลุออกทางท้ายทอย ทิ่มรูจมูกจนทะลุถึงท้ายทอย และทิ่มดวงตาจะทะลุถึงท้ายทอย จากนั้นก็เปลี่ยนไปยืนอีกข้างหนึ่ง แล้วทำเหมือนกับที่ได้ทำไปในด้านแรก เมื่อลงโทษด้านที่สองเสร็จ ก็พอดีกับที่แผลจากการลงโทษในด้านแรกหายสนิท เขาจึงกลับไปลงโทษในด้านแรกเหมือนกับที่ทำไปในครั้งแรก" เมื่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ถามถึงชายคนดังกล่าว ก็ได้รับคำตอบว่า "เขาคือผู้ที่ออกจากบ้านในตอนเช้า แล้วพูดโกหก จนเรื่องที่เขาโกหกนั้นกระจายไปทั่วทุกสารทิศ" (บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 7047)

    และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้บอกไว้ว่าผู้ใดละทิ้งการโกหกแม้จะเป็นเรื่องล้อเล่นก็ตาม เขาจะได้รับผลบุญที่ยิ่งใหญ่ ดังหะดีษจากท่านอบีอุมามะฮฺ เราะฏิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า:

    « أَنَا زَعِيْمٌ بِبَيْتٍ فِيْ رَبَضِ الجَنَّةِ لِمَنْ تَرَكَ الِمرَاءَ وَإِنْ كَانَ مُحِقًّا، وَبِبَيْتٍ فِيْ وَسَطِ الجَنَّةِ لِمَنْ تَرَكَ الكَذِبَ وَإِنْ كَانَ مَازِحًا، وَبِبَيْتٍ فِيْ أَعْلَى الجَنَّةِ لِمَنْ حَسَّنَ خُلُقَهُ » [أبو دواد برقم 4800]

    ความว่า "ฉันขอรับรองว่าจะมีคฤหาสน์เตรียมไว้ในสวรรค์รอบนอก สำหรับผู้ที่ละทิ้งการโต้เถียงทั้งที่เขาเป็นฝ่ายถูก และจะมีคฤหาสน์เตรียมไว้ในส่วนกลางของสวรรค์ สำหรับผู้ที่ละทิ้งการโกหกแม้จะเป็นเรื่องหยอกล้อ และจะมีคฤหาสน์เตรียมไว้ในชั้นสูงสุดของสวรรค์สำหรับผู้ทีมีมารยาทอันงดงาม" (บันทึกโดยอบู ดาวูด หะดีษเลขที่ 4800)

    อิมามอะหฺมัด บิน หัมบัล กล่าวว่า: "การโกหกนั้นไม่เป็นที่อนุมัติไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องล้อเล่นก็ตาม" (อัล-อาดาบ อัชชัรฺอิยะฮฺ ของอิบนุ มุฟลิหฺ เล่ม 1 หน้า 23) และยังกล่าวอีกว่า: "มุสลิมนั้นถูกสร้างมาให้มีทุกๆลักษณะนิสัยอยู่ในตัว ยกเว้นการคดโกงและการโกหก" (อัซซะวาญิรฺ มิน อิกติรอฟ อัล-กะบาอิรฺ ของอิบนุหะญัรฺ อัล-หัยตะมีย์ เล่ม 2 หน้า 195)

    ท่านอิบนุก็อยยิม เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า: "การโกหกนั้นทำให้ระบบสังคมเสื่อมโทรมจนมิอาจจะยืนหยัดอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มันคือต้นเหตุของความชั่วร้ายทั้งปวงในโลกนี้ และนำมาซึ่งความเสียหายมากมายอย่างที่ทราบกันดี หลายต่อหลายครั้งที่การโกหกเป็นต้นตอของการตกต่ำล่มสลายของอาณาจักรหรือประเทศชาติ ทำให้เศรษฐีกลายเป็นคนขัดสน คนมีเกียรติกลายเป็นคนต่ำต้อย ทำให้เกิดความบาดหมางและเป็นศัตรูกัน ถึงขนาดทำให้พ่อลูกพี่น้องโกรธเคืองกัน จากมิตรแท้ต้องกลายเป็นศัตรูถาวร ซึ่งในนรกญะฮันนัมนั้นก็เต็มไปด้วยผู้ที่โกหกต่ออัลลอฮฺ เราะสูล และศาสนาของพระองค์" (มิฟตาหฺ ดาริสสะอาดะฮฺ เล่ม 2 หน้า 73)

    กวีท่านหนึ่งกล่าวว่า:

    الكَذِبُ عار وخَيْرُ القَوْلِ أَصْدَقُهُ والحَقُّ ما مَسَّهُ مِنْ باطِلٍ زَهَقَا

    "การโกหกนั้นเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ คำพูดที่ดีที่สุดก็คือการพูดความจริง และเมื่อความจริงปรากฏ ความเท็จก็จะมลายหายสิ้นไป"

    อีกท่านหนึ่งกล่าวว่า:

    ودَعِ الكَذُوبَ فَلَا يَكُنْ لَكَ صَاحِبًا إِنَّ الكَذُوبَ لَبِئْسَ خِلًّا يُصْحَبُ

    "อย่าได้คบหาผู้ที่ชอบโกหกเป็นเพื่อน เพราะคนประเภทนี้คือมิตรสหายที่แย่ที่สุด"

    ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เกลียดการโกหก และรังเกียจผู้ที่ชอบโกหกเป็นอย่างมาก ท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา กล่าวว่า: "ไม่มีลักษณะนิสัยใดที่บรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม รังเกียจมากไปกว่าการโกหก เคยมีบางคนกล่าวโกหกต่อหน้าท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม แล้วท่านก็โกรธชายผู้นั้นเป็นอย่างมาก กระทั่งเขาเตาบัตกลับตัวจากความผิดดังกล่าว" (บันทึกโดยอะหฺมัด หะดีษเลขที่ 25183)

    อุละมาอ์หลายท่านกล่าวว่า: "การโกหกที่ชั่วช้าที่สุด คือการโกหกต่ออัลลอฮฺ และเราะสูลของพระองค์" ท่านอัซซะฮะบียฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า: "ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าการจงใจโกหกต่ออัลลฮอฮฺ และเราะสูลของพระองค์ เพื่อทำให้สิ่งที่หะรอมกลายเป็นหะล้าล หรือหะล้าลกลายเป็นหะรอมนั้น ถือเป็นการปฏิเสธศรัทธาอย่างชัดแจ้ง" (อัล-กะบาอิรฺ ของอัซซะฮะบีย์)

    และกล่าวอีกว่า: "การโกหกต่ออัลลอฮฺและเราะสูลนั้นถือเป็นบาป ส่วนการโกหกนอกเหนือจากกรณีดังกล่าว เมื่อประมวลจากตัวบทต่างๆแล้ว พบว่าเป็นบาปใหญ่เช่นเดียวกัน" (อัล-กะบาอิรฺ ของอัซซะฮะบีย์)

    ความสัตย์จริงเป็นหนทางแห่งความปลอดภัยทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮฺ ดังเรื่องราวของกะอฺบ์ บิน มาลิก เมื่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม แจ้งข่าวดีแก่ท่านว่าการเตาบัตกลับตัวของท่าน (จากความผิดที่ท่านพลาดการเข้าร่วมสงครามกับท่านนบี) ถูกตอบรับ ท่านกล่าวว่า: "โอ้ท่านเราะสูลุลลอฮฺ แท้จริงพระองค์อัลลอฮฺทรงให้ฉันรอดพ้นจากเรื่องดังกล่าวด้วยความสัตย์จริงของฉัน และเพื่อยืนยันการเตาบัตกลับตัวของฉัน จากนี้ไปตลอดชั่วชีวิตฉันจะพูดแต่ความจริง" ท่านกะอฺบ์กล่าวว่า: "ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ ไม่มีมุสลิมคนใดถูกอัลลอฮฺทดสอบเรื่องความสัตย์จริงนับตั้งแต่วันที่ฉันได้เล่าเรื่องดังกล่าวแก่ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จนถึงวันนี้ ดีไปกว่าที่พระองค์ทรงทดสอบฉัน และขออัลลอฮฺทรงปกป้องดูแลฉันในช่วงชีวิตที่เหลือให้รอดพ้นจากการโกหกด้วยเถิด" (บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 3556 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 2769)

    พระองค์อัลลอฮฺตรัสว่า:

    ﴿ يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا اتَّقُوا اللَّهَ وَكُونُوا مَعَ الصَّادِقِينَ 119 ﴾ [التوبة: 119]

    ความว่า "โอ้ศรัทธาชนทั้งหลาย พึงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด และจงอยู่อยู่ร่วมกับบรรดาผู้ที่พูดจริง" (อัต-เตาบะฮฺ: 119)

    นักวิชาการได้ยกเว้นให้โกหกได้ในบางสถานการณ์ เช่น โกหกเพื่อให้หายโกรธเคืองกัน การโกหกในสงคราม และการโกหกเพื่อให้รอดพ้นจากความอธรรม ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมุสลิมคนหนึ่งซ่อนตัวจากผู้อธรรมที่ต้องการฆ่าเขา หรือต้องการทรัพย์สินของเขา เมื่อมีคนใดถูกถาม เขาก็จำเป็นที่จะต้องโกหกเพื่อปกป้องเขา และเช่นเดียวกันเมื่อมีผู้ใดฝากของไว้และมีคนร้ายจะมาเอาไปก็จำเป็นที่เขาจะต้องโกหกเพื่อปิดบัง แต่ที่ดีที่สุดคือควรใช้คำพูดเพื่อที่ให้คนฟังเข้าใจผิดไปเองไม่ใช่โกหกด้วยคำพูดตรงๆ นักวิชาการได้ใช้หลักฐานในการอนุญาตให้โกหกในกรณีดังกล่าวจากหะดีษซึ่งรายงานโดยอุมมุกัลษูม เราะฎิยัลลอฮุอันฮา เล่าว่านางได้ยินท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า:

    « لَيْسَ الكَذَّابُ الَّذِيْ يُصْلِحُ بَيْنَ النَّاسِ، فَيَنْمِيْ خَيْرًا أَوْ يَقُوْلُ خَيْرًا » [البخاري برقم 2692 ومسلم برقم 2505]

    ความว่า "ผู้ที่พยายามประสานให้ผู้คนคืนดีกันด้วยคำพูดที่ดีนั้นไม่ถือว่าเป็นคนโกหก" มุสลิมกล่าวว่า: ท่านอิบนุชิฮาบ เราะหิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า: "ฉันไม่เคยได้ยินการอนุมัติให้โกหกได้นอกจากในสามสถานการณ์ดังต่อไปนี้ หนึ่งในสงคราม สองเพื่อให้สองฝ่ายคืนดีกัน สามคำพูดของสามีต่อภรรยาของเขาหรือภรรยาต่อสามีของนาง" (บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 2692 มุสลิม หะดีษเลขที่ 2605)

    และสิ่งที่ต้องพึงระวังอีกอย่างหนึ่งก็คือ การเล่าเรื่องโกหกเพื่อให้ผู้คนตลกขบขันนั้น ถือเป็นการโกหกที่ถูกห้ามเช่นกัน ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า:

    « وَيْلٌ لِلَّذِيْ يُحَدِّثُ بِالحَدِيْثِ لِيُضْحِكَ بِهِ القَوْمَ فَيَكْذِبُ ، وَيْلٌ لَهُ ، وَيْلٌ لَهُ » [البخاري برقم 2692 ومسلم برقم 2505]

    ความว่า: "ความหายนะจงประสบแก่ผู้ที่กุเรื่องเล่าขึ้นเพื่อทำให้ผู้อื่นหัวเราะขบขัน ความหายนะจงประสบแก่เขา ความหายนะจงประสบแก่เขา" (บันทึกโดยอัต-ติรมิซียฺ หะดีษเลขที่ 2314)

    والحمد لله رب العالمين،

    وصلى الله وسلم على نبينا محمد، وعلى آله وصحبه أجمعين.