มนุษย์เจ็ดจำพวกที่ได้รับร่มเงาในวันกิยามะฮฺ
บทความนี้ถูกแปลเป็นภาษา
หมวดหมู่
Full Description
มนุษย์เจ็ดจำพวกที่ได้รับร่มเงาในวันกิยามะฮฺ
] ไทย – Thai – تايلاندي [
ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์
แปลโดย : ซุกรีย์นูร จงรักศักดิ์
ตรวจทานโดย : ซุฟอัม อุษมาน
ที่มา : หนังสือ อัด-ดุร็อรฺ อัล-มุนตะกอฮฺ มิน อัล-กะลีมาต อัล-มุลกอฮฺ
2012 - 1433
﴿السبعة الذين يظلهم الله في ظله﴾
« باللغة التايلاندية »
د. أمين بن عبدالله الشقاوي
ترجمة: شكري نور
مراجعة: صافي عثمان
المصدر: كتاب الدرر المنتقاة من الكلمات الملقاة
2012 - 1433
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ
เรื่องที 2
มนุษย์เจ็ดจำพวกที่อัลลอฮฺให้ร่มเงาของพระองค์
อัลหัมดุลิลลาฮฺ ขอขอบคุณพระองค์อัลลอฮฺผู้สูงส่ง ขอความสุขสวัสดิ์จงมีแด่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ-ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮฺ วะสัลลัม- ฉันขอปฏิญาณว่ามีเพียงพระองค์เท่านั้นที่เป็นพระเจ้าผู้บังควรแก่การเคารพภักดี หนึ่งเดียวไม่มีสิ่งใดเทียบเคียง และขอปฏิญาณว่าท่านศาสดามุหัมมัดนั้นเป็นบ่าวและศาสนทูตของพระองค์
อบู ฮุร็อยเราะฮฺ -เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ- ได้รายงานว่าท่านนบี -ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮฺ วะสัลลัม- ได้กล่าวว่า :
«سَبْعَةٌ يُظِلُّهُمُ اللَّهُ تَعَالَى فِى ظِلِّهِ يَوْمَ لاَ ظِلَّ إِلاَّ ظِلُّهُ: إِمَامٌ عَدْلٌ ، وَشَابٌّ نَشَأَ فِى عِبَادَةِ اللَّهِ ، وَرَجُلٌ قَلْبُهُ مُعَلَّقٌ فِى الْمَسَاجِدِ ، وَرَجُلاَنِ تَحَابَّا فِى اللَّهِ اجْتَمَعَا عَلَيْهِ وَتَفَرَّقَا عَلَيْهِ ، وَرَجُلٌ دَعَتْهُ امْرَأَةٌ ذَاتُ مَنْصِبٍ وَجَمَالٍ فَقَالَ إِنِّى أَخَافُ اللَّهَ ، وَرَجُلٌ تَصَدَّقَ بِصَدَقَةٍ فَأَخْفَاهَا حَتَّى لاَ تَعْلَمَ شِمَالُهُ مَا تُنْفِقُ يَمِينُهُ ، وَرَجُلٌ ذَكَرَ اللَّهَ خَالِيًا فَفَاضَتْ عَيْنَاهُ» [البخاري برقم 1423، ومسلم برقم 1031]
ความว่า : “มีคนเจ็ดจำพวกที่พระองค์อัลลอฮฺผู้สูงส่งจะทรงกำบังพวกเขาไว้ใต้ร่มเงาของพระองค์ ณ วันที่ไม่มีร่มเงาใดๆ ยกเว้นแต่เพียงร่มเงาของพระองค์เท่านั้น คนเหล่านั้นคือ ผู้นำผู้ทรงธรรม ชายหนุ่มที่เติบโตด้วยการทำอิบาดะฮฺต่อพระองค์อัลลอฮฺ คนที่มีหัวใจเชื่อมโยงผูกมัดกับมัสยิด สองคนที่รักกันเพื่อพระองค์อัลลอฮฺ พวกเขาติดต่อและพลัดพรากกันเพื่อพระองค์ คนที่มีสาวสวยและสูงศักดิ์มาชวนให้มีเพศสัมพันธ์แล้วเขากลับตอบเธอว่า “ฉันกลัวอัลลอฮฺ” คนที่บริจาคทานอย่างหนึ่งแล้วปิดไว้เป็นความลับถึงขั้นที่มือซ้ายไม่ทราบสิ่งที่มือขวาบริจาค และคนที่ระลึกถึงพระองค์อัลลอฮฺอย่างเงียบๆ แล้วดวงตาของเขาก็เจิ่งนองด้วยน้ำตา” (เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรียฺ เล่ม 1 หน้า 440 หมายเลข 1423, เศาะฮีหฺ มุสลิม เล่ม 2 หน้า 715 หมายเลข 1031)
ในวันกิยามะฮฺ พระองค์อัลลอฮฺจะทรงรวบรวมผู้คนจากยุคแรกถึงยุคสุดท้าย
﴿ لِيَجۡزِيَ ٱلَّذِينَ أَسَٰٓـُٔواْ بِمَا عَمِلُواْ وَيَجۡزِيَ ٱلَّذِينَ أَحۡسَنُواْ بِٱلۡحُسۡنَى ٣١ ﴾ [النجم: ٣١]
ความว่า : “เพื่อที่พระองค์จะได้ประทานรางวัลแก่ผู้ทำชั่วในสิ่งที่พวกเขาได้ปฏิบัติ และตอบแทนบรรดาผู้ทำดีด้วยสิ่งที่ดี” (อัน-นัจญ์มุ: 31)
ในวันที่การรอคอยเนิ่นนาน โกลาหลสับสัน และเต็มไปด้วยทุกข์ทรมาน พระองค์อัลลอฮฺได้ทรงเตือนให้ปวงบ่าวระวังภัยและสั่งพวกเขาให้เตรียมพร้อมเพื่อเผชิญหน้าว่า
﴿يَٰٓأَيُّهَا ٱلنَّاسُ ٱتَّقُواْ رَبَّكُمۡۚ إِنَّ زَلۡزَلَةَ ٱلسَّاعَةِ شَيۡءٌ عَظِيمٞ ١ يَوۡمَ تَرَوۡنَهَا تَذۡهَلُ كُلُّ مُرۡضِعَةٍ عَمَّآ أَرۡضَعَتۡ وَتَضَعُ كُلُّ ذَاتِ حَمۡلٍ حَمۡلَهَا وَتَرَى ٱلنَّاسَ سُكَٰرَىٰ وَمَا هُم بِسُكَٰرَىٰ وَلَٰكِنَّ عَذَابَ ٱللَّهِ شَدِيدٞ ٢ ﴾ [الحج: ١-٢]
ความว่า : “โอ้ มนุษย์เอ๋ย สูเจ้าจงเกรงกลัวต่อพระผู้อภิบาลของสูเจ้ากันเถิด แท้จริงแล้ว การสั่นสะเทือนของวันกิยามะฮฺนั้นเป็นสิ่งที่ใหญ่หลวงมาก ในวันที่สูเจ้าจะเห็นว่าหญิงตั้งครรภ์ทุกคนต่างจะพากันแท้งลูกของตัวเองออกมา หญิงที่อุ้มลูกจะลืมตัวปล่อยลูกน้อยตกจากอ้อมแขน และสูเจ้าจะเห็นคนทั้งหมดมึนเมา แต่ความจริงแล้วพวกเขามิใช่คนเมา แต่เป็นเพราะว่าการทรมานของอัลลอฮฺนั้นช่างรุนแรงมาก” (อัล-หัจญ์ : 1-2)
นั่นคือวันที่ใหญ่หลวง ดวงอาทิตย์จะเข้าประชิดใกล้กับผู้คนเพียงไมล์เดียว มนุษย์จะมีเหงื่อท่วมตัวตามปริมาณความชั่วของตน บางคนมีเหงื่อท่วมข้อเท้า บางคนท่วมหัวเข่า บางคนท่วมเอว ตลอดจนมีบางคนที่ต้องจมมิดในน้ำเหงื่อของตัวเอง (ความหมายของหะดีษที่บันทึกโดยมุสลิมในหนังสือเศาะฮีหฺมุสลิม เล่ม 4 หน้า 2196หมายเลข 2864)
อบู ฮุร็อยเราะฮฺ -เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ- เล่าว่าท่านเราะสูลุลลอฮฺ-ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮฺ วะสัลลัม- ได้กล่าวว่า
«يَعْرَقُ النَّاسُ يَوْمَ الْقِيَامَةِ حَتَّى يَذْهَبَ عَرَقُهُمْ فِي الأَرْضِ سَبْعِينَ ذِرَاعًا، وَيُلْجِمُهُمْ حَتَّى يَبْلُغَ آذَانَهُمْ» [البخاري برقم 6532، ومسلم برقم 2863]
ความว่า : ”ในวันกิยามะฮฺ มนุษย์จะออกเหงื่อจนไหลท่วมลงในดินถึงเจ็ดสิบศอก และมีเหงื่อท่วมถึงระดับใบหู“ (เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรียฺ เล่ม 4 หน้า 197 หมายเลข 6532, เศาะฮีหฺ มุสลิม เล่ม 4 หน้า 2196 หมายเลข 2863)
ในสถานการณ์ที่โกลาหลนี้เอง พระองค์อัลลอฮฺจะทรงกำบังคนเจ็ดกลุ่มไว้ใต้ร่มเงาของพระองค์ เราลองมาดูการงานของพวกเขาที่ทำให้ได้รับพระราชทานรางวัลอันยิ่งใหญ่นี้สักหน่อย
อันดับแรก คือ ผู้นำผู้ทรงธรรมที่ปกครองมนุษย์ด้วยหลักความยุติธรรม ไม่ปฏิบัติตามอารมณ์ความรู้สึกส่วนตน ดังที่พระองค์อัลลอฮฺได้ตรัสว่า :
﴿ يَٰدَاوُۥدُ إِنَّا جَعَلۡنَٰكَ خَلِيفَةٗ فِي ٱلۡأَرۡضِ فَٱحۡكُم بَيۡنَ ٱلنَّاسِ بِٱلۡحَقِّ وَلَا تَتَّبِعِ ٱلۡهَوَىٰ فَيُضِلَّكَ عَن سَبِيلِ ٱللَّهِۚ إِنَّ ٱلَّذِينَ يَضِلُّونَ عَن سَبِيلِ ٱللَّهِ لَهُمۡ عَذَابٞ شَدِيدُۢ بِمَا نَسُواْ يَوۡمَ ٱلۡحِسَابِ ٢٦ ﴾ [ص: ٢٦]
ความว่า : “โอ้ ดาวูดเอ๋ย เราได้แต่งตั้งเจ้าให้เป็นเคาะลีฟะฮฺบนแผ่นดินนี้ ดังนั้น จงปกครองประชาชนด้วยความซื่อสัตย์และอย่ากระทำตามอำเภอใจ เพราะมันจะทำให้เจ้าหันเหออกจากหนทางของอัลลอฮฺ แท้จริง คนที่หลงออกจากแนวทางของอัลลอฮฺนั้น จะต้องได้รับการลงโทษที่สาหัสจากเหตุที่หลงลืมวันแห่งการสอบสวน” (ศอด : 26)
อีกทั้งยังเป็นการเชิดชูและปฏิบัติตามคำสั่งที่พระองค์ตรัสว่า :
﴿ ۞إِنَّ ٱللَّهَ يَأۡمُرُكُمۡ أَن تُؤَدُّواْ ٱلۡأَمَٰنَٰتِ إِلَىٰٓ أَهۡلِهَا وَإِذَا حَكَمۡتُم بَيۡنَ ٱلنَّاسِ أَن تَحۡكُمُواْ بِٱلۡعَدۡلِۚ إِنَّ ٱللَّهَ نِعِمَّا يَعِظُكُم بِهِۦٓۗ إِنَّ ٱللَّهَ كَانَ سَمِيعَۢا بَصِيرٗا ٥٨ ﴾ [النساء: ٥٨]
ความว่า : “แท้จริงอัลลอฮฺทรงใช้ให้สูเจ้าปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายให้กับเจ้าของสิทธิ และเมื่อสูเจ้าจะตัดสินความระหว่างประชาชน สูเจ้าจะต้องตัดสินด้วยความยุติธรรม แท้จริง อัลลอฮฺนั้น ทรงแนะสูเจ้าด้วยสิ่งดีที่สุด แท้จริง อัลลอฮฺนั้น เป็นผู้ทรงได้ยินและทรงเห็นยิ่ง” (อัน-นิสาอ์ : 58)
อบู ฮุร็อยเราะฮฺ -เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ- เล่าว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ-ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮฺ วะสัลลัม- ได้กล่าวว่า :
«إنَّ المُقْسِطِينَ عند الله على مَنَابِرَ من نُورٍ عن يَمينِ الرَّحْمنِ - وكلْتَا يَدَيْهِ يَمِينٌ – الَّذِينَ يَعْدِلُونَ فِي حُكْمِهِمْ وأَهْلِيهمْ وَمَا وَلُوا» [مسلم برقم 1827]
ความว่า : “แท้จริง บรรดาผู้ทรงธรรม ณ พระองค์อัลลอฮฺนั้นจะพำนักอยู่บนแท่นแห่งแสงจากทางด้านขวาของพระผู้ทรงกรุณา ซึ่งพระหัตถ์ทั้งสองของพระองค์เป็นด้านขวา คนเหล่านั้นคือคนที่มีความเที่ยงธรรมในการตัดสิน เที่ยงธรรมต่อครอบครัว และเที่ยงธรรมในสิ่งที่เขารับผิดชอบ” (เศาะฮีหฺ มุสลิม เล่ม 3 หน้า 1458 หมายเลข 1827)
นี่คือรางวัลของผู้ที่มีความเที่ยงธรรมในคำตัดสินและคืนความชอบธรรมให้แก่ผู้ครอบครอง คราวนี้ ลองมาพิจารณาโทษของผู้คดโกงในคำตัดสิน กดขี่ และอธรรมบ้าง
พระองค์อัลลอฮฺตรัสว่า :
﴿وَلَا تَحۡسَبَنَّ ٱللَّهَ غَٰفِلًا عَمَّا يَعۡمَلُ ٱلظَّٰلِمُونَۚ إِنَّمَا يُؤَخِّرُهُمۡ لِيَوۡمٖ تَشۡخَصُ فِيهِ ٱلۡأَبۡصَٰرُ ٤٢ ﴾ [ابراهيم: ٤٢]
ความว่า : และเจ้าจงอย่าได้คิดไปเลยว่าพระองค์อัลลอฮฺนั้นทรงลืมสิ่งที่พวกโหดร้ายได้กระทำไว้ แท้จริงแล้ว พระองค์ทรงชะลอเวลาแก่พวกเขาเพื่อเตรียมพบกับวันที่ดวงตาต้องเบิกค้าง (อิบรอฮีม : 42)
อบู อุมามะฮฺ -เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ- เล่าว่าท่านเราะสูลุลลอฮฺ-ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮฺ วะสัลลัม-ได้กล่าวว่า :
«مَا مِنْ رَجُلٍ يَلِي أَمْرَ عَشَرَةٍ فَمَا فَوْقَ ذَلِكَ؛ إِلَّا أَتَى اللَّهَ عَزَّ وَجَلَّ مَغْلُولًا يَوْمَ الْقِيَامَةِ يَدُهُ إِلَى عُنُقِهِ، فَكَّهُ بِرُّهُ، أَوْ أَوْبَقَهُ إِثْمُهُ، أَوَّلُهَا مَلَامَةٌ، وَأَوْسَطُهَا نَدَامَةٌ، وَآخِرُهَا خِزْيٌ يَوْمَ الْقِيَامَةِ» [مسند الإمام أحمد 5/267، وصححه الألباني في صحيح الجامع برقم 5718]
ความว่า : “ทุกคนที่รับผิดชอบต่อคนสิบคนขึ้นไป จะต้องมาพบพระองค์อัลลอฮฺตะอาลาในวันกิยามะฮฺในสภาพที่มือถูกมัดห้อยไว้ที่คอ ซึ่งความดีของเขาอาจจะคลายมันหรือไม่ก็ความชั่วของเขาอาจจะยิ่งรัดมัน (การรับตำแหน่งนั้น ที่จริงแล้ว) ช่วงแรกๆ คือ ช่วงแห่งการแช่งตัวเอง ช่วงกลางๆ คือ ช่วงแห่งความเสียใจ และช่วงสุดท้าย คือ ช่วงแห่งความต่ำต้อยน่าเวทนาในวันกิยามะฮฺ” (มุสนัดอิหม่ามอะหฺมัด เล่มที่ 5 หน้า 267 อัล-อัลบานียฺได้ระบุว่าเป็นหะดีษที่เศาะฮีหฺในหนังสือเศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ อัศ-เศาะฆีรฺ หมายเลข 5718)
มะอฺกิล บิน ยะสารฺ -เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ- เล่าว่า ฉันได้ยินท่านเราะสูลุลลอฮฺ-ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮฺ วะสัลลัม- ได้กล่าวว่า :
« مَا مِنْ عَبْدٍ يَسْتَرْعِيهِ اللَّهُ رَعِيَّةً يَمُوتُ يَوْمَ يَمُوتُ وَهُوَ غَاشٌّ لِرَعِيَّتِهِ إِلاَّ حَرَّمَ اللَّهُ عَلَيْهِ الْجَنَّةَ » [البخاري برقم 715، ومسلم برقم 124 واللفظ له]
ความว่า : “บ่าวทุกคนที่อัลลอฮฺมอบให้เขาปกครองประชาชน แล้วในวันที่สิ้นชีวิตเขาได้สิ้นชีวิตในคราบผู้หลอกลวงประชาชนของเขา เขาย่อมจะต้องถูกอัลลอฮฺห้ามมิให้เข้าสรวงสวรรค์” (เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรียฺ เล่มที่ 4 หน้า 331 หมายเลข 715 , เศาะฮีหฺมุสลิม เล่มที่ 1 หน้า 125 หมายเลข 124 โดยสำนวนนี้เป็นสำนวนของมุสลิม )
สอง คนหนุ่มสาวที่เติบโตท่ามกลางบรรยากาศแห่งการภักดีต่อพระองค์อัลลอฮฺ โดยพระองค์ได้ทรงอำนวยให้เขาสามารถทำดีมาตั้งแต่เล็กๆ ให้มีจิตใจชอบการทำดีและเกลียดชังการทำชั่ว และทรงอำนวยให้เขาสามารถละทิ้งการชั่วนั้น ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุให้เขาได้รับการอบรมที่ดี มีเพื่อนดีๆ หรือสาเหตุอื่นๆ พระองค์ทรงปกป้องเขาตั้งแต่เด็กๆ มิให้เป็นเหมือนเด็กอื่นๆ ที่จมปลักกับการละเล่นที่ไร้สาระ ทำเพิกเฉยกับการละหมาด และหลงมัวเมาในตัณหาและความสุขชั่ววูบ พระองค์อัลลอฮฺได้ทรงชื่นชมคนหนุ่มสาวผู้จำเริญกลุ่มนี้ว่า
﴿إِنَّهُمۡ فِتۡيَةٌ ءَامَنُواْ بِرَبِّهِمۡ وَزِدۡنَٰهُمۡ هُدٗى ١٣ ﴾ [الكهف: ١٣]
ความว่า : แท้จริงแล้ว พวกเขาคือคนหนุ่มที่ศรัทธาต่อพระผู้อภิบาลของพวกเขา และเราได้เพิ่มทางนำให้แก่พวกเขามากยิ่งขึ้น (อัล-กะฮฺฟ : 13)
คงเป็นเพราะคนหนุ่มสาวเป็นผู้อ่อนไหวอย่างมากในอารมณ์ ทำให้เป็นการยากที่จะมีคนในวัยหนุ่มสาวที่สามารถควบคุมตัวเองในอยู่ในการภักดีตนต่อพระองค์อัลลอฮฺและทำดีอย่างสม่ำเสมอ ด้วยเหตุนี้เอง พวกเขาจึงสมควรได้รับสิทธิให้เป็นหนึ่งในจำนวนผู้ที่จะได้รับการกำบังให้อยู่ภายใต้ร่มเงาของพระองค์
เพราะเขาทราบดีว่าตัวเองจะต้องรับผิดชอบในวัยหนุ่มสาวว่าใช้หมดไปในทางใด เขาจึงปฏิบัติตามคำสั่งเสียของท่านนบี -ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮฺ วะสัลลัม- ที่สั่งว่า
«اغْتَنِمْ خَمْساً قَبْلَ خَمْسٍ: حَيَاتَكَ قَبْلَ مَوْتِكَ، وَصِحَّتَكَ قَبْلَ سَقَمِكَ، وَفَرَاغَكَ قَبْلَ شُغْلِكَ، وَشَبَابَكَ قَبْلَ هَرَمِكَ، وَغِنَاكَ قَبْلَ فَقْرِكَ» [الحاكم في المستدرك 4/341 رقم 7844 وقال : هذا حديث صحيح على شرط الشيخين ولم يخرجاه، وصححه الألباني في صحيح الجامع برقم 1077]
ความว่า : “จงใช้โอกาสในห้าก่อนเกิดห้า เป็นก่อนตาย สุขก่อนเจ็บ ว่างก่อนยุ่ง หนุ่มก่อนแก่ และมีก่อนจน” (มุสตัดร็อก อัล-หากิม เล่มที่ 4 หน้า 341 หมายเลข 7844 โดยท่านได้กล่าวว่า หะดีษนี้เป็นหะดีษเศาะฮีหฺตามเงื่อนไขของอัล-บุคอรียฺและมุสลิม แต่ท่านทั้งสองมิได้บันทึกไว้ อัล-อัลบานียฺได้บอกว่าหะดีษนี้เป็นหะดีษเศาะฮีหฺ ในเศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ อัศ-เศาะฆีรฺ เล่มที่ 1 หน้า 244 หมายเลข 1077 )
สาม คนที่หัวใจมีความผูกมัดกับมัสยิดอยู่ตลอดเวลา เขาจะรู้สึกว่าไม่มีความสุขเลยเมื่อออกนอกมัสยิด เพราะมัสยิดเป็นเสมือนบ้านของพระองค์อัลลอฮฺ ผู้ใดที่เหยียบย่างเข้าไปก็เสมือนว่าเขาได้เป็นแขกของเจ้าของบ้าน จึงไม่มีดวงใจและชีวิตที่เบิกบานและมีสุขเท่าคนที่ได้เป็นแขกของพระเจ้าที่ได้อยู่ในบ้านและอยู่ในความดูแลของพระองค์เอง
คนเหล่านี้ คือ ผู้ทะนุบำรุงมัสยิดที่แท้จริง ดังที่พระองค์อัลลอฮฺได้กล่าวถึงว่า
﴿ إِنَّمَا يَعۡمُرُ مَسَٰجِدَ ٱللَّهِ مَنۡ ءَامَنَ بِٱللَّهِ وَٱلۡيَوۡمِ ٱلۡأٓخِرِ وَأَقَامَ ٱلصَّلَوٰةَ وَءَاتَى ٱلزَّكَوٰةَ وَلَمۡ يَخۡشَ إِلَّا ٱللَّهَۖ فَعَسَىٰٓ أُوْلَٰٓئِكَ أَن يَكُونُواْ مِنَ ٱلۡمُهۡتَدِينَ ١٨ ﴾ [التوبة: ١٨]
ความว่า : “แท้จริงแล้ว ผู้ที่ทะนุบำรุงมัสยิดนั้น คือ ผู้ที่ศรัทธาต่อพระองค์อัลลอฮฺและวันอาคิเราะฮฺ ผู้ที่ดำรงการละหมาด ชำระซะกาต และเกรงกลัวต่อเพียงพระองค์อัลลอฮฺ ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคนเหล่านี้จะได้เป็นส่วนหนึ่งของผู้ที่ได้รับทางนำ” (อัต-เตาบัต : 18)
อบู ดัรดาอ์ -เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ- ได้เล่าว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ-ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮฺ วะสัลลัม- ได้กล่าวว่า :
«الْمَسْجِدُ بَيْتُ كل تَقِيٍّ، وَقَدْ تَكَفَّلَ اللَّهُ عَزَّ وَجَلَّ لِمَنْ كان الْمَسَجِدُ بيتَهُ بالرَّوْحِ، وَالرَّحمةِ، وَالْجَوَازِ عَلَى الصِّرَاطِ إِلَى رِضْوَانِ اللهِ إلى الجنةَ» [حلية الأولياء لأبي نُعَيم 6/176، وقال المنذري في الترغيب والترهيت 1/298 : رواه الطبراني في الكبير والأوسط، والبزار، وقال : إسناده حسن وهو كما قال رحمه الله. وصححه الألباني في السلسلة الصحيحة 716]
ความว่า : “มัสยิดนั้นคือบ้านของผู้ยำเกรงทุกคน พระองค์อัลลอฮฺได้ทรงให้การค้ำประกันแก่ผู้ที่ยึดมัสยิดเป็นบ้านของตัวเอง ด้วยการให้ความสดชื่น ให้ความร่มเย็น และให้สามารถข้ามผ่านสะพานศิรอฏไปยังความโปรดปรานของพระองค์อัลลอฮฺ ไปยังสรวงสวรรค์” (หิลยะตุล เอาลิยาอ์ ของ อบู นุอัยมฺ เล่มที่ 6 หน้า 176 อัล-มุนซิรียฺได้กล่าวในหนังสือของท่านที่ชื่อว่า “อัล-ตัรฺฆีบ วะ อัล-ตัรฺฮีบ” เล่มที่ 1 หน้า 298 ว่าหะดีษนี้บันทึกโดยอัล-เฏาะบะเราะนียฺในหนังสือ “อัล-กะบีรฺ” และหนังสือ “อัล-เอาสัฏ” และบันทึกโดยอัล-บัซซารฺและบอกว่า สายรายงานของหะดีษนี้อยู่ในระดับหะสัน ซึ่งระดับของมันก็เป็นตามที่ท่านได้กล่าวไว้, อัล-อัลบานียฺได้ชี้ว่าเป็นหะดีษเศาะฮีหฺในหนังสืออัล-สิลสิละฮฺ อัศ-เศาะฮีหฺะฮฺ 716)
การได้เป็นแขกของพระเจ้าบนโลกดุนยานี้ ทำให้เขามีจิตใจที่อิ่มเอิบ สบายใจ และมีความสุข ส่วนในอาคิเราะฮฺเขาจะได้รับรางวัลแห่งความสุขอันมากมายตามที่ได้รับสัญญา
อบู ฮุร็อยเราะฮฺ -เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ- ได้เล่าว่าท่านเราะสูลุลลอฮฺ-ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮฺ วะสัลลัม- ได้กล่าวว่า :
« مَنْ غَدَا إِلَى الْمَسْجِدِ أوْ رَاحَ أَعَدَّ اللَّهُ لَهُ نُزُلَهُ في الْجَنَّةِ كُلَّمَا غَدَا أَوْ رَاحَ » [البخاري برقم 662، ومسلم 669]
ความว่า : “ผู้ใดไปมัสยิดในตอนเช้าหรือตอนเย็น พระองค์อัลลอฮฺจะทรงเตรียมสถานพำนักให้สำหรับเขาในสรวงสวรรค์ทุกครั้งที่เขาไปมัสยิดทั้งตอนเช้าหรือตอนเย็น” (เศาะฮีหฺ อัล-บุคอรียฺ เล่มที่ 1 หน้า 20 หมายเลข 662 เศาะฮีหฺมุสลิม เล่มที่ 1 หน้า 463 หมายเลข 667 )
สี่ คนสองคนที่รักกันในนามของอัลลอฮฺ เขาพบกันและพลัดพรากกันเพื่อพระองค์ ทั้งนี้ เป็นเพราะสายใยแห่งการศรัทธาที่มั่นคงที่สุดคือการรักกันเพื่ออัลลอฮฺและการโกรธเคืองกันเพื่อพระองค์
พระองค์อัลลอฮฺ ได้ตรัสว่า :
﴿ يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ مَن يَرۡتَدَّ مِنكُمۡ عَن دِينِهِۦ فَسَوۡفَ يَأۡتِي ٱللَّهُ بِقَوۡمٖ يُحِبُّهُمۡ وَيُحِبُّونَهُۥٓ أَذِلَّةٍ عَلَى ٱلۡمُؤۡمِنِينَ أَعِزَّةٍ عَلَى ٱلۡكَٰفِرِينَ يُجَٰهِدُونَ فِي سَبِيلِ ٱللَّهِ وَلَا يَخَافُونَ لَوۡمَةَ لَآئِمٖۚ ذَٰلِكَ فَضۡلُ ٱللَّهِ يُؤۡتِيهِ مَن يَشَآءُۚ وَٱللَّهُ وَٰسِعٌ عَلِيمٌ ٥٤ ﴾ [المائدة: ٥٤]
ความว่า : “โอ้ บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย ผู้ใดในหมู่สูเจ้าที่หันหลังให้กับศาสนาของตัวเอง ในไม่ช้าอัลลอฮฺก็จะทรงบังเกิดชนอีกกลุ่มหนึ่งที่พระองค์ทรงรักพวกเขา และพวกเขาก็รักในพระองค์ พวกเขามีความนอบน้อมต่อบรรดาผู้ศรัทธาและรู้สึกทระนงตนต่อผู้บรรดาผู้ปฏิเสธ พวกเขามุ่งมั่นจริงจังในหนทางของอัลลอฮฺโดยไม่หวั่นไหวต่อเสียงการด่าทอของผู้ติเตียน นั่นคือ ความโปรดปรานของพระองค์ที่พระองค์ทรงมอบให้แก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ และพระองค์อัลลอฮฺนั้น เป็นผู้กว้างขวางและรอบรู้ยิ่ง” (อัล-มาอิดะฮฺ : 54)
และในหะดีษที่เล่าโดยอบู อุมามะฮฺ -เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ- ว่าท่านเราะสูลุลลอฮฺ-ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮฺ วะสัลลัม- ได้กล่าวว่า :
«مَنْ أَحَبَّ في اللَهِ وَأَبْغَضَ في اللَهِ وَأَعْطَى لِلَّهِ وَمَنَعَ لِلَّهِ فَقَدِ اسْتَكْمَلَ الإِيمَانَ» [سنن أبي داود برقم 4681، وصححه الألباني في صحيح الجامع برقم 5965]
ความว่า : “ผู้ใดรักกันเพื่ออัลลอฮฺ โกรธกันเพื่ออัลลอฮฺ ให้เพื่ออัลลอฮฺ และห้ามเพื่ออัลลอฮฺ ก็ถือว่าอีมานของเขาได้บรรลุจุดสมบูรณ์แล้ว” (สุนัน อบีดาวูด เล่มที่ 4 หน้า 220 หมายเลข 4681 อัล-อัลบานียฺได้บอกว่าหะดีษนี้เป็นหะดีษเศาะฮีหฺ ใน เศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ อัศ-เศาะฆีรฺ เล่มที่ 2 หน้า 1034 หมายเลข 5965 )
อบู ฮุร็อยเราะฮฺ -เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ- เล่าว่าท่านนบี-ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮฺ วะสัลลัม- ได้กล่าวว่า :
« وَالَّذِى نَفْسِى بِيَدِهِ لاَ تَدْخُلُون الْجَنَّةَ حَتَّى تُؤْمِنُوا وَلاَ تُؤْمِنُوا حَتَّى تَحَابُّوا، أَلاَ أَدُلُّكُمْ عَلَى شَىْءٍ إِذَا فَعَلْتُمُوهُ تَحَابَبْتُمْ؟ أَفْشُوا السَّلاَمَ بَيْنَكُمْ » مسلم برقم 54]
ความว่า : “ขอสาบานกับพระผู้ซึ่งชีวิตของฉันอยู่พระหัตถ์ของพระองค์ว่า พวกท่านย่อมไม่ได้เข้าสรวงสวรรค์จนกว่าจะศรัทธา และพวกท่านย่อมไม่บรรลุถึงแก่นศรัทธาจนกว่าจะรักกัน เอาไหมล่ะ ฉันจะบอกสิ่งหนึ่งซึ่งหากพวกท่านปฏิบัติ พวกท่านจะมีความรักต่อกัน? นั่นคือ จงแพร่กระจายการให้สลามในหมู่พวกท่าน” (เศาะฮีหฺมุสลิม เล่มที่ 1 หน้า 74 หมายเลข 54 )
นี่คือปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนๆ หนึ่งจะได้ลิ้มรสความหวานชื่นและสัมผัสอันเต็มอิ่มด้วยอีมาน คนสองคนนี้ไม่ได้รักกันเพราะเป็นญาติ เป็นพี่น้อง หรือเพราะผลประโยชน์ดุนยาใดๆ ทั้งสิ้น แต่การรักในพระองค์อัลลอฮฺนำพาพวกเขาให้เกิดรักกัน กระทั่งความตายได้พลัดพรากคนทั้งสองออกจากกันในสภาพเช่นนั้น
อบู มาลิก อัล-อัชอะรียฺ -เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ- ได้เล่าว่าท่านนบี-ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮฺ วะสัลลัม- ได้กล่าวว่า
«إنَّ لِلَّهِ عِبَادًا لَيْسُوا بِأَنْبِيَاءَ وَلاَ شُهَدَاءَ، يَغْبِطُهُمْ النَّبِيُّونَ وَالشُّهَدَاءُ عَلَى مَجَالِسِهِمْ وَقُرْبِهِمْ مِنَ اللهِ» . فَجَثَى رَجُلٌ مِنَ الأَعْرَابِ مِنْ قَاصِيَةِ النَّاسِ ، وَأَلْوَى بِيَدِهِ إِلَى نَبِيِّ اللهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فَقَالَ : يَا نَبِيَّ اللهِ نَاسٌ مِنَ النَّاسِ لَيْسُوا بِأَنْبِيَاءَ وَلاَ شُهَدَاءَ يَغْبِطُهُمُ الأَنْبِيَاءُ وَالشُّهَدَاءُ عَلَى مَجَالِسِهِمْ وَقُرْبِهِمْ مِنَ اللهِ انْعَتْهُمْ لَنَا ، يَعْنِي صِفْهُمْ لَنَا ، فَسُرَّ وَجْهُ رَسُولِ اللهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ لِسُؤَالِ الأَعْرَابِيِّ فَقَالَ رَسُولُ اللهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ : «هُمْ نَاسٌ مِنْ أَفْنَاءِ النَّاسِ وَنَوَازِعِ الْقَبَائِلِ، لَمْ تَصِلْ بَيْنَهُمْ أَرْحَامٌ مُتَقَارِبَةٌ، تَحَابُّوا فِي اللهِ وَتَصَافَوْا ، يَضَعُ اللَّهُ لَهُمْ يَوْمَ الْقِيَامَةِ مَنَابِرَ مِنْ نُورٍ فَيُجْلِسُهُمْ عَلَيْهَا فَيَجْعَلُ وُجُوهَهُمْ نُورًا، وَثِيَابَهُمْ نُورًا، يَفْزَعُ النَّاسُ يَوْمَ الْقِيَامَةِ وَلاَ يَفْزَعُونَ، وَهُمْ أَوْلِيَاءُ اللهِ الَّذِينَ لاَ خَوْفٌ عَلَيْهِمْ وَلاَ هُمْ يَحْزَنُونَ» [مسند الإمام أحمد (5/343)، وشرح السنة للبغوي (13/50-51) برقم (3464)، وقال محققاه شعيب وزهير : وأخرجه أحمد (5/341، 343) وشهر بن حوشب مختلف فيه وله شاهد بنحوه من حديث ابن عمر أخرجه الحاكم في المستدرك (4/170-171) وصححه، وأقره الذهبي، وآخر من حديث أبي هريرة عند ابن حبان في صحيحه (2508) وإسناده صحيح]
ความว่า : “แท้จริง พระองค์อัลลอฮฺนั้นมีบ่าวหลายคนที่มิใช่คนระดับนบี หรือ ชะฮีด แต่เหล่านบีและชะฮีดต่างพากันอิจฉาพวกเขาเพราะสถานะและความใกล้ชิดของพวกเขากับพระองค์” ทันใดนั้น ก็มีชายอาหรับชนบทที่นั่งอยู่ไกลสุดคนหนึ่งได้ขยับพับขาลุกขึ้นนั่งบนน่องพร้อมกับยกมือชี้มายังท่านนบี -ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮฺ วะสัลลัม- แล้วถามว่า โอ้ ท่านนบีของอัลลอฮฺ คนธรรมดาที่ไม่ใช่นบีและไม่ได้เป็นชะฮีด แต่เหล่านบีและชะฮีดต่างอิจฉาต่อพวกเขาเพราะสถานะและความใกล้ชิดกับอัลลอฮฺของพวกเขากระนั้นหรือ? ช่วยบอกคุณสมบัติของพวกเขาให้เราทราบหน่อยซิ แล้วสีหน้าของท่านเราะสูลลุลลอฮฺ -ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮฺ วะสัลลัม- ก็ดูเบิกบานมากกับคำถามของชายอาหรับชนบทคนนี้ ท่านเราะสูลุลลอฮฺ-ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮฺ วะสัลลัม- ได้ตอบว่า “พวกเขาคือคนนิรนามและมาจากวงศ์ตระกูลที่หลากหลายซึ่งมิได้ผูกพันกันเพราะสายเครือญาติ พวกเขารักกันในนามของอัลลอฮฺและมีความสามัคคีกลมเกลียวกัน อัลลอฮฺจะทรงสร้างแท่นจากแสงไว้สำหรับพวกเขา แล้วให้พวกเขานั่งบนนั้น แล้วพระองค์ทรงทำให้ใบหน้าของพวกเขาแวววับ เสื้อผ้าของพวกเขาแวววับ คนอื่นต่างพากันหวั่นไหวในวันกิยามะฮฺแต่พวกเขากลับไม่สะทกสะท้าน พวกเขาคือคนใกล้ชิดของอัลลอฮฺผู้ซึ่งไม่มีความหวาดกลัวและไม่รู้สึกทุกข์โศกใดๆ” (มุสนัดอิหม่ามอะหฺมัด เล่มที่ 5 หน้า 343, ชัรฺหุสสุนนะฮฺ ของ อัล-บะเฆาะวียฺ เล่มที่ 13 หน้า 50-51 หมายเลข 3464 นักวิเคราะห์หะดีษสองคนคือ ชุอัยบฺและซุฮัยรฺ ได้กล่าวว่า : หะดีษนี้ได้ถูกบันทึกโดยอิหม่ามอะหฺมัด เล่มที่ 5 หน้า 341 และ 343 ทั้งนี้ สายรายงานที่ชื่อชะฮฺร์ บิน เหาชับนั้นมีความเห็นต่างต่อตัวเขา หะดีษนี้ยังมีชาฮิดสนับสนุนที่เป็นหะดีษอื่นที่มีความหมายใกล้เคียงกัน คือ หะดีษของอิบนุอุมัรฺ ที่บันทึกโดยอัล-หากิมในหนังสืออัล-มุสตัดร็อก เล่มที่ 4 หน้า 170-171 และท่านบอกว่าเป็นหะดีษที่เศาะฮีหฺ และยังได้รับการเห็นชอบจากอัซ-ซะฮะบียฺ ส่วนอีกหะดีษหนึ่งเป็นหะดีษของอบู ฮุร็อยเราะฮฺที่บันทึกโดยอิบนุ หิบบานในหนังสือเศาะฮีหฺของท่าน (2508) ซึ่งมีสายรายงานอยู่ในระดับเศาะฮีหฺ)
ห้า ผู้ชายที่มีผู้หญิงมาชวนให้มีเพศสัมพันธ์กันแต่เขาห้ามใจตัวเองได้ ซึ่งผู้หญิงคนนี้ไม่ใช่ผู้หญิงธรรมดา แต่เป็นผู้หญิงสูงศักดิ์และมีหน้าตาสวยงามเย้ายวน ทำให้การอยากกระทำชั่วและความหลงใหลในตัวนางมีสูงมาก คนที่สามารถจะเล็ดลอดผ่านการทดสอบนี้แน่นอนย่อมต้องเป็นคนที่มีอีมานที่ล้ำลึกและมีปัญญาที่มั่นคง
อัล-กอฎี อิยาด ได้กล่าวว่า : ในหะดีษนี้ได้ระบุเจาะจงหญิงสูงศักดิ์และมีรูปร่างหน้าตาสวยงาม เพราะคนเช่นนี้เป็นที่หมายปองของผู้ชายแต่เข้าถึงได้ยาก เพราะเธอรวยทั้งฐานะและรูปร่าง อีกทั้งเธอเองเป็นฝ่ายชักชวนให้ผู้ชายกระทำชั่วกับเธอซึ่งเป็นการลำบากมากที่ผู้ชายจะหลอกลวงคนประเภทนี้ให้กระทำชั่วหากนางเองไม่ทอดสะพานให้ ดังนั้น การอดกลั้นอดทนไม่ยอมกระทำชั่วกับนางด้วยเพราะความเกรงกลัวต่ออัลลอฮฺ ทั้งๆ ที่เธอเองเป็นฝ่ายชักชวนและเป็นผู้มีเสน่ห์เย้ายวนทั้งฐานะและรูปร่างจึงเป็นอีมานขั้นสมบูรณ์ที่สุดและเป็นการภักดีที่ยิ่งใหญ่ที่สุด พระองค์อัลลอฮฺจึงจัดพวกเขาให้อยู่ในกลุ่มผู้ที่พระองค์จะทรงกำบังไว้ใต้ร่มเงาของพระองค์ ทั้งนี้ ผู้หญิงซาตุลมันศิบในที่นี้ คือ ผู้หญิงที่มีฐานะดีและมาจากตระกูลที่มีชื่อ” (เศาะฮีหฺ มุสลิม บิชัรฺหินนะวาวียฺ เล่มที่ 3 หน้า 122)
พระองค์อัลลอฮฺได้ตรัสในกรณีบุคคลเช่นนี้ว่า :
﴿ وَأَمَّا مَنۡ خَافَ مَقَامَ رَبِّهِۦ وَنَهَى ٱلنَّفۡسَ عَنِ ٱلۡهَوَىٰ ٤٠ فَإِنَّ ٱلۡجَنَّةَ هِيَ ٱلۡمَأۡوَىٰ ٤١ ﴾ [النازعات: ٤٠-٤١]
ความว่า : “และสำหรับผู้ที่เกรงขามในสถานภาพของพระผู้อภิบาลของเขาและอดกลั้นตัวเองไม่ทำตามกิเลสใฝ่ต่ำนั้น แน่นอน สรวงสวรรค์ย่อมเป็นที่พำนักของพวกเขา” (อัน-นาซิอาต : 40-41)
อิบนุ อุมัรฺ -เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุมา- ได้เล่าว่าท่านเราะสูลุลลอฮฺ-ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮฺ วะสัลลัม- ได้กล่าวว่า:
« بَيْنَمَا ثَلاَثَةُ نَفَرٍ يَتَمَاشَوْنَ أَخَذَهُمُ الْمَطَرُ ، فَمَالُوا إِلَى غَارٍ فِى الْجَبَلِ ، فَانْحَطَّتْ عَلَى فَمِ غَارِهِمْ صَخْرَةٌ مِنَ الْجَبَلِ ، فَأَطْبَقَتْ عَلَيْهِمْ ، فَقَالَ بَعْضُهُمْ لِبَعْضٍ انْظُرُوا أَعْمَالاً عَمِلْتُمُوهَا لِلَّهِ صَالِحَةً ، فَادْعُوا اللَّهَ بِهَا لَعَلَّهُ يَفْرُجُهَا عَنْكُمْ، فَقَالَ أَحَدُهُمْ : اللَّهُمَّ إِنَّهُ كَانَتْ لِى ابْنَةُ عَمٍّ ، أُحِبُّهَا كَأَشَدِّ مَا يُحِبُّ الرِّجَالُ النِّسَاءَ، فَطَلَبْتُ إِلَيْهَا نَفْسَهَا ، فَأَبَتْ حَتَّى آتِيَهَا بِمِائَةِ دِينَارٍ ، فَتغيبْتُ حَتَّى جَمَعْتُ مِائَةَ دِينَارٍ ، فَلَقِيتُهَا بِهَا ، فَلَمَّا قَعَدْتُ بَيْنَ رِجْلَيْهَا قَالَتْ يَا عَبْدَ اللَّهِ اتَّقِ اللَّهَ ، وَلاَ تَفْتَحِ الْخَاتَمَ إلَّا بِحَقِّهِ. فَقُمْتُ عَنْهَا ، اللَّهُمَّ فَإِنْ كُنْتَ تَعْلَمُ أَنِّي فَعَلْتُ ذَلِكَ ابْتِغَاءَ وَجْهِكَ فَافْرُجْ لَنَا مِنْهَا فُرْجَةً فَفَرَجَ فُرْجَةً ... إلخ الحديث» [قطعة من حديث في صحيح البخاري برقم 2215، وصحيح مسلم برقم 2743]
ความว่า : “ในขณะที่คนสามคนกำลังเดินอยู่ อยู่ๆ ฝนก็ตกลงมา พวกเขาจึงหลบเข้าไปในถ้ำแห่งหนึ่งที่ภูเขา แต่แล้วหินก้อนใหญ่ก้อนหนึ่งบนภูเขาก็ได้ไถลลงมาปิดปากถ้ำจนพวกเขาไม่มีทางออก พวกเขาสั่งแก่กันและกันว่า จงพิจารณาเลือกการงานหรืออะมัลที่ดีต่างๆ ที่พวกท่านได้กระทำต่ออัลลอฮฺ แล้วก็ใช้มันเป็นสื่อเพื่อขอวิงวอนให้อัลลอฮฺช่วยเหลือ เผื่อว่าพระองค์จะทรงเปิดทางให้กับพวกท่าน ...แล้วคนหนึ่งในสามคนนั้นก็อ้อนขอว่า โอ้ พระองค์อัลลอฮฺ ฉันนี้มีหญิงลูกพี่ลูกน้องคนหนึ่งที่ฉันลุ่มหลงรักใคร่ในตัวนางเหมือนที่คู่รักชายหญิงเขาลุ่มหลงกัน ฉันจึงขอให้นางเป็นของฉัน แต่นางไม่ยอมจนกว่าฉันจะนำเงินหนึ่งร้อยดีนาร์มาให้ แล้วฉันก็หายหน้าไปกระทั่งสามารถรวบรวมเงินหนึ่งร้อยดีนาร์ได้แล้วก็นำมาให้นาง แต่แล้วในขณะที่ฉันกำลังคร่อมสองขาของนางเพื่อกระทำชั่วนั้น นางได้กล่าวขึ้นว่า “โอ้ ผู้เป็นบ่าวของอัลลอฮฺ จงเกรงกลัวต่ออัลลอฮฺเถิด จงอย่าได้เปิดสิ่งที่ปิดผนึกยกเว้นด้วยความชอบธรรมของมัน” ฉันจึงผละออกไปจากนาง โอ้ อัลลอฮฺ หากพระองค์ทรงทราบว่าที่ฉันทำไปนั้นเป็นเพียงเพื่อแสวงหาความโปรดปรานของพระองค์ ก็ขอทรงโปรดเปิดทางให้เราสักครั้งเถิด แล้วพระองค์ก็ทรงเปิดปากถ้ำในระดับหนึ่ง ...” (หะดีษนี้เป็นส่วนหนึ่งของหะดีษในเศาะฮีหฺ อัล-บุคอรียฺ เล่มที่ 2 หน้า 117 หมายเลข 2215 เศาะฮีหฺมุสลิม เล่มที่ 4 หน้า 210 หมายเลข 2743 )
หก คนที่บริจาคทานอย่างลับๆ ซึ่งคนบริจาคนั้นช่างมีมาก และผลบุญ ณ อัลลอฮฺก็ช่างใหญ่หลวง แต่ความพิเศษที่ทำให้ได้รับการตอบแทนที่ใหญ่หลวงในรูปของการได้รับการกำบังจากอัลลอฮฺของผู้บริจาคคนนี้ก็คือความบริสุทธิ์ใจในการบริจาค ซึ่งความบริสุทธิ์ใจของเขามีสูงมากถึงขั้นว่าหากทำได้เขาจะปิดบังมิให้ตัวเองทราบในสิ่งตัวเองบริจาค พระองค์อัลลอฮฺได้ทรงชื่นชมเหล่าผู้บริจาคว่า
﴿ إِن تُبۡدُواْ ٱلصَّدَقَٰتِ فَنِعِمَّا هِيَۖ وَإِن تُخۡفُوهَا وَتُؤۡتُوهَا ٱلۡفُقَرَآءَ فَهُوَ خَيۡرٞ لَّكُمۡۚ وَيُكَفِّرُ عَنكُم مِّن سَئَِّاتِكُمۡۗ وَٱللَّهُ بِمَا تَعۡمَلُونَ خَبِيرٞ ٢٧١ ﴾ [البقرة: ٢٧١]
ความว่า : “หากสูเจ้าเปิดเผยการบริจาคให้คนอื่นได้รู้ มันก็เป็นการดี (จากนั้น ได้ตรัสเป็นการเฉพาะถึงบุคคลบริจาคอย่างเงียบๆ ว่า) แต่หากสูเจ้าปกปิดและบริจาคให้กับผู้ยากไร้ มันก็เป็นการดีกว่าสำหรับสูเจ้า และพระองค์จะทรงลบล้างความผิดบาปออกจากสูเจ้า และพระองค์อัลลอฮฺนั้นเป็นผู้รู้ดียิ่งในสิ่งที่สูเจ้ากระทำไป” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 271)
อับดุลลอฮฺ บินญะฟัรฺ -เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ- เล่าว่าท่านเราะสูลุลลอฮฺ-ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮฺ วะสัลลัม- ได้กล่าวว่า :
«صَدَقَةَ السِّرِّ تُطْفِيءُ غَضَبَ الرَّبِّ» [المعجم الصغير للطبراني (2/95) وصححه الألباني في صحيح الجامع رقم 3759]
ความว่า : “การบริจาคอย่างเงียบๆ นั้นสามารถดับความกริ้วโกรธของพระเจ้าได้” (อัล-มุอฺญัม อัศ-เศาะฆีรฺ ของ อัฏ-เฏาะบะเราะนียฺ เล่มที่ 2 หน้า 95 อัล-อัลบานียฺได้ชี้ว่าหะดีษนี้เป็นหะดีษที่เศาะฮีหฺในหนังสือเศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ หมายเลข 3759 )
เจ็ด คนที่มีจิตใจเต็มเปี่ยมด้วยความรักในพระองค์อัลลอฮฺ มีความเกรงกลัว และมีความรู้สึกซาบซึ้งในความยิ่งใหญ่ของพระองค์ เขาจึงรำลึกถึงพระองค์ในสถานที่เงียบๆ ที่ไม่มีใครมองเห็น เขารำลึกถึงความยิ่งใหญ่ของพระองค์ ความเอื้อเฟื้อเมตตาของพระองค์ที่มีต่อตัวเขา แล้วน้ำตาของเขาก็รินหลั่งด้วยความอาวรณ์ต่อพระองค์ ซึ่งบุคคลเช่นนี้ พระองค์อัลลอฮฺได้ตรัสถึงว่า
﴿ إِنَّمَا ٱلۡمُؤۡمِنُونَ ٱلَّذِينَ إِذَا ذُكِرَ ٱللَّهُ وَجِلَتۡ قُلُوبُهُمۡ وَإِذَا تُلِيَتۡ عَلَيۡهِمۡ ءَايَٰتُهُۥ زَادَتۡهُمۡ إِيمَٰنٗا وَعَلَىٰ رَبِّهِمۡ يَتَوَكَّلُونَ ٢ ﴾ [الأنفال: ٢]
ความว่า : “แท้จริง บรรดาผู้ศรัทธานั้น คือ ผู้ที่เมื่อมีคนมาเอ่ยถึงอัลลอฮฺให้พวกเขาได้ยิน จิตใจของพวกเขาจะรู้หวั่นไหว และเมื่อมีคนมาอ่านคัมภีร์ของพระองค์ให้พวกเขาฟัง พวกเขาก็จะยิ่งมีความเชื่อมั่น และพวกเขาต่างมอบตนให้กับพระเจ้าของพวกเขา” (อัล-อันฟาล : 2)
﴿ وَإِذَا سَمِعُواْ مَآ أُنزِلَ إِلَى ٱلرَّسُولِ تَرَىٰٓ أَعۡيُنَهُمۡ تَفِيضُ مِنَ ٱلدَّمۡعِ مِمَّا عَرَفُواْ مِنَ ٱلۡحَقِّۖ يَقُولُونَ رَبَّنَآ ءَامَنَّا فَٱكۡتُبۡنَا مَعَ ٱلشَّٰهِدِينَ ٨٣ ﴾ [المائدة: ٨٣]
ความว่า : “และเมื่อพวกเขาได้ยินสิ่งที่ถูกประทานลงมาแก่ศาสนทูต เจ้าก็จะเห็นดวงตาของพวกเขาเอ่อด้วยน้ำตา เนื่องด้วยความจริงที่พวกเขารู้มัน พวกเขากล่าวว่า โอ้ พระเจ้าของเรา แท้จริง เราได้ศรัทธาแล้ว ขอพระองค์ทรงบันทึกเราพร้อมๆ กับบรรดาผู้เป็นสักขีพยานด้วยเถิด” (อัล-มาอิดะฮฺ : 83)
อิบนุ อับบาส -เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุมา- เล่าว่าท่านนบี -ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮฺ วะสัลลัม- ได้กล่าวว่า :
«عَيْنَانِ لاَ تَمَسُّهُمَا النَّارُ ، عَيْنٌ بَكَتْ مِنْ خَشْيَةِ اللَّهِ، وَعَيْنٌ بَاتَتْ تَحْرُسُ فِى سَبِيلِ اللَّهِ» [سنن الترمذي برقم 1639، وصححه الألباني في صحيح الجامع برقم 4113]
ความว่า : “มี(เจ้าของ)ดวงตาสองดวงที่ไฟนรกจะไม่เผา คือ ดวงตาที่ร้องไห้เพราะความเกรงกลัวต่ออัลลอฮฺ และดวงตาที่เข้าเวรในยามค่ำคืนเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในหนทางของอัลลอฮฺ” (สุนัน อัต-ติรฺมิซียฺ เล่มที่ 4 หน้า 175 หมายเลข 1639 และท่านได้บอกว่า หะดีษอิบนุ อับบาสนี้ เป็นหะดีษระดับหะสันเฆาะรีบ อัล-อัลบานียฺได้ชี้ว่าเป็นหะดีษเศาะฮีหฺในหนังสือเศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ อัศ-เศาะฆีรฺ เล่มที่ 2 หน้า 756 หมายเลข 4113)
ทั้งนี้ ท่านนบี -ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮฺ วะสัลลัม- นั้นเป็นคนที่ร้องไห้เสมอเพราะความเกรงกลัวต่อพระองค์อัลลอฮฺ เช่นเดียวกับบรรดาคนศอลิหฺคนอื่นๆ ทั้งในสมัยก่อนหน้าและในสมัยหลังๆ ซึ่งผู้ที่มีจิตใจแข็งกระด้างนั้น อัลลอฮฺได้ทรงเตือนพวกเขาว่าจะต้องได้รับสิ่งทีไม่ดี พระองค์ได้ตรัสว่า :
﴿فَوَيۡلٞ لِّلۡقَٰسِيَةِ قُلُوبُهُم مِّن ذِكۡرِ ٱللَّهِۚ أُوْلَٰٓئِكَ فِي ضَلَٰلٖ مُّبِينٍ ٢٢ ﴾ [الزمر: ٢٢]
ความว่า : “และความฉิบหายจงมีแด่ผู้ที่มีดวงใจแข็งกระด้างต่อการรำลึกถึงอัลลอฮฺ พวกเขาเหล่านั้นคือผู้ที่ตกอยู่ในความมืดมนที่ชัดเจน” (อัซ-ซุมัรฺ : 22)
والحمد لله رب العالمين ، وصلى الله وسلم على نبينا محمد
وعلى آله وصحبه أجمعين .