×
สุนนะฮฺต่างๆ ที่สนับสนุนให้ปฏิบัติในวันอีด อาทิ การชำระร่างกายให้สะอาด การแต่งตัวให้สง่างาม การกินอาหารก่อนไปละหมาดอีด การละหมาดที่มุศ็อลลา การกล่าวตักบีรฺ การอวยพรวันอีด เป็นต้น เป็นบทความจากหนังสืออัด-ดุร็อรฺ อัล-มุนตะกอฮฺ ของเชคอะมีน อัช-ชะกอวีย์

    สุนนะฮฺต่างๆ ที่สนับสนุนให้ปฏิบัติในวันอีด

    ] ไทย – Thai – تايلاندي [

    ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์

    แปลโดย : ซุฟอัม อุษมาน

    2011 – 1432


    ﴿ سنن العيد

    « باللغة التايلاندية »

    د. أمين بن عبدالله الشقاوي

    ترجمة: صافي عثمان

    2011 – 1432

    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    เรื่องที่ 20

    สุนนะฮฺต่างๆ ที่สนับสนุนให้ปฏิบัติในวันอีด

    มวลการสรรเสริญเป็นของอัลลอฮฺ พรอันประเสริฐและความศานติจงมีแด่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียว โดยไม่มีภาคีใดๆ สำหรับพระองค์ และขอปฏิญาณว่าท่านนบีมุหัมมัดคือบ่าวและศาสนทูตของพระองค์

    เราขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺ หลังจากที่พระองค์ได้ทำให้เรามีชีวิตถึงเดือนเราะมะฎอน และได้ช่วยเหลือเราให้ปฏิบัติภารกิจ
    ศิยาม(ถือศีลอด)และกิยาม(ละหมาดกลางคืน) ขอให้พระองค์ได้ทรงตอบรับการงานต่างๆ เหล่านั้นจากเราด้วย แท้จริงพระองค์นั้นทรงการุณและเอื้อเฟื้อยิ่ง

    ในจำนวนประการต่างๆ ที่ควรสะกิดเตือนในช่วงนี้ก็คือบทบัญญัติต่างๆ เกี่ยวกับการละหมาดอีด และสุนนะฮฺต่างๆ ที่มุสลิมควรปฏิบัติในวันอีด ตามที่มีรายงานจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม อาทิเช่น

    ประการแรก ในวันอีดมุสลิมควรต้องเอาใจใส่เรื่องการอาบน้ำชำระร่างกายและใส่เครื่องหอม ซึ่งนักวิชาการบางกลุ่มมีทัศนะสนับสนุนให้ทำสิ่งดังกล่าวนั้น เช่นที่มีรายงานจากอิบนุ อุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ว่าท่านจะอาบน้ำก่อนที่จะออกไปละหมาดอีด (มุวัฏเฏาะอ์มาลิก 1/189) นักวิชาการบางท่านกล่าวว่าส่งเสริมให้ขจัดขนรักแร้ ตัดเล็บ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลความสะอาดของร่างกาย เพราะนี่ถือว่าเป็นการประดับกายที่สมบูรณ์ อีกทั้งยังสนับสนุนให้สวมใส่เสื้อผ้าที่ดีสุดเท่าที่สามารถจะหามาใส่ได้

    มีรายงานจากอิบนุ อุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ว่าท่านมักจะสวมใส่เสื้อผ้าที่ดีที่สุดในวันอีด (สุนัน อัล-บัยฮะกียฺ 3/281)

    อิบนุล ก็อยยิม ได้กล่าวว่า ในวันอีด ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จะสวมเสื้อผ้าที่งามที่สุดของท่าน ท่านจะมีชุดเฉพาะที่ใช้สวมใส่ในวันอีดและวันศุกร์ (ดู ซาด อัล-มะอาด 1/441)

    ประการที่สอง ถ้าเป็นอีดุลฟิฏรฺ(วันอีดออกบวชเราะมะฎอน) มีสุนนะฮฺให้ทานอินทผลัมก่อนออกไปละหมาดเล็กน้อยด้วยจำนวนคี่ คือ สามผล หรือห้าผล หรือเจ็ดผล

    ท่านอะนัส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จะไม่ออกไปละหมาดอีดุลฟิฏรฺ จนกว่าจะได้ทานอินผลัมก่อนเล็กน้อย โดยท่านจะทานเป็นจำนวนคี่ (บันทึกโดย อัล-บุคอรียฺ หมายเลข 953)

    ประการที่สาม ส่งเสริมให้ออกไปละหมาดด้วยเส้นทางหนึ่ง และขากลับให้ใช้อีกเส้นทางหนึ่ง เพราะมีรายงานจากญาบิรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เมื่อถึงวันอีดท่านจะใช้เส้นทางสลับกัน ระหว่างขาไปกับขากลับ (บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ หมายเลข 986)

    อัลลอฮฺได้ตรัสว่า

    ﴿لَّقَدۡ كَانَ لَكُمۡ فِي رَسُولِ ٱللَّهِ أُسۡوَةٌ حَسَنَةٞ لِّمَن كَانَ يَرۡجُواْ ٱللَّهَ وَٱلۡيَوۡمَ ٱلۡأٓخِرَ وَذَكَرَ ٱللَّهَ كَثِيرٗا ٢١﴾ [الأحزاب: ٢١]

    ความว่า “ขอสาบาน ว่าแท้จริงแล้วสำหรับพวกเจ้า ในตัวศาสนทูตของอัลลอฮฺนั้น มีแบบอย่างที่ดีงามแก่คนที่หวังในอัลลอฮฺและวันอาคิเราะฮฺ และได้รำลึกถึงอัลลอฮฺอย่างมากมาย" (อัล-อะห์ซาบ 21)

    ประการที่สี่ ตามสุนนะฮฺนั้นให้ละหมาดอีดที่มุศ็อลลา(สนามละหมาด) ไม่ใช่ที่มัสญิด นี่เป็นสิ่งที่รู้กันจากการปฏิบัติของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่ได้ทำเช่นนี้เสมอมา ตามที่นักวิชาการจำนวนหนึ่งได้วินิจฉัยให้น้ำหนักเกี่ยวกับความเห็นในประเด็นดังกล่าวนี้

    ประการที่ห้า ไม่มีรายงานที่ยืนยันได้จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่าท่านละหมาดสุนัตก่อนหรือหลังละหมาดอีดที่มุศ็อลลา ซึ่งท่านอิบนุ อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ได้เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ออกไปละหมาด
    อีดุลฟิฏรฺ ท่านละหมาดสองร็อกอะฮฺ โดยไม่ได้ละหมาดสุนัตก่อนและหลังละหมาดอีดแต่อย่างใด (บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ หมายเลข 989)

    แต่ถ้าหากว่าทำการละหมาดอีดในมัสญิด ก็ควรต้องละหมาดตะหิยะตุลมัสญิด(ละหมาดเมื่อเข้ามัสญิดก่อนที่จะนั่งลงหรือทำภารกิจอื่น)จำนวนสองร็อกอะฮฺเสียก่อน มีรายงานจาก อบู เกาะตาดะฮฺ อัส-สุละมียฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

    «ِإِذَا دَخَلَ أَحَدُكُمُ المَسْجِدَ، فَلَا يَجْلِسْ حَتَّى يَرْكَعَ رَكْعَتَيْنِ» [البخاري برقم 444، ومسلم برقم 714]

    ความว่า “เมื่อใครคนใดคนหนึ่งในหมู่พวกท่านเข้ามัสญิด เขาก็จงอย่านั่งจนกว่าจะได้ละหมาดสองร็อกอะฮฺเสียก่อน" (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ หมายเลข 444 , มุสลิม หมายเลข 714)

    ประการที่หก เมื่อกลับจากละหมาดอีดไปถึงบ้านแล้ว มีบทบัญญัติให้ละหมาดสองร็อกอะฮฺที่บ้าน เป็นหะดีษที่รายงานโดย อบู สะอีด อัล-คุดรียฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จะไม่ละหมาดใดๆ ก่อนละหมาดอีด แต่เมื่อท่านกลับถึงบ้านแล้ว ท่านก็จะละหมาดสองร็อกอะฮฺ (บันทึกโดยอิบนุ มาญะฮฺ หมายเลข 1293, อัล-หากิม กล่าวว่าเป็นหะดีษเศาะฮีหฺ ในขณะที่อิบนุ หะญัรฺ กล่าวว่าเป็นหะดีษหะสัน ดู ฟัตหุลบารี 2/476)

    ประการที่เจ็ด ส่งเสริมให้มีการกล่าวตักบีรฺ เริ่มตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกดินของคืนที่รุ่งเช้านั้นเป็นวันอีด นักวิชาการบางท่านเห็นว่าการตักบีรฺนั้นเป็นสิ่งวาญิบต้องทำเลยทีเดียว เพราะอัลลอฮฺได้ตรัสว่า

    ﴿شَهۡرُ رَمَضَانَ ٱلَّذِيٓ أُنزِلَ فِيهِ ٱلۡقُرۡءَانُ هُدٗى لِّلنَّاسِ وَبَيِّنَٰتٖ مِّنَ ٱلۡهُدَىٰ وَٱلۡفُرۡقَانِۚ فَمَن شَهِدَ مِنكُمُ ٱلشَّهۡرَ فَلۡيَصُمۡهُۖ وَمَن كَانَ مَرِيضًا أَوۡ عَلَىٰ سَفَرٖ فَعِدَّةٞ مِّنۡ أَيَّامٍ أُخَرَۗ يُرِيدُ ٱللَّهُ بِكُمُ ٱلۡيُسۡرَ وَلَا يُرِيدُ بِكُمُ ٱلۡعُسۡرَ وَلِتُكۡمِلُواْ ٱلۡعِدَّةَ وَلِتُكَبِّرُواْ ٱللَّهَ عَلَىٰ مَا هَدَىٰكُمۡ وَلَعَلَّكُمۡ تَشۡكُرُونَ ١٨٥﴾ [البقرة: ١٨٥]

    ความว่า “เดือนเราะมะฎอนนั้น เป็นเดือนที่อัลกุรอานได้ถูกประทานลงมาในฐานะเป็นข้อแนะนำสำหรับมนุษย์ และเป็นหลักฐานอันชัดเจนเกี่ยวกับข้อแนะนำนั้น และเกี่ยวกับสิ่งที่จำแนกระหว่างความจริงกับความเท็จ ดังนั้น ผู้ใดในหมู่พวกเจ้าเข้าอยู่ในเดือนนั้นแล้ว ก็จงถือศีลอดในเดือนนั้น และผู้ใดป่วย หรืออยู่ในการเดินทาง ก็จงถือใช้ในวันอื่นแทน อัลลอฮฺทรงประสงค์ให้มีความสะดวกแก่พวกเจ้า และไม่ทรงให้มีความลำบากแก่พวกเจ้า และเพื่อที่พวกเจ้าจะได้ให้ครบถ้วนซึ่งจำนวนวัน (ของเดือนเราะมะฎอน) และเพื่อพวกเจ้าจะได้ตักบีรฺ(กล่าวถ้อยคำแสดงความเกรียงไกร)แด่อัลลอฮฺในสิ่งที่พระองค์ ทรงแนะนำแก่พวกเจ้า และเพื่อพวกเจ้าจะขอบคุณ" (อัล-บะเกาะเราะฮฺ 185)

    ในเช้าวันอีดให้กล่าวตักบีรฺตั้งแต่เริ่มออกจากบ้านไปมุศ็อลลา(สนามละหมาด) จนกระทั่งอิมามนำละหมาดได้เข้ามาถึงยังที่ละหมาด อุละมาอ์ทั้งสี่มัซฮับต่างเห็นพ้องกันว่า การกล่าวตักบีรฺที่ว่านี้เป็นสิ่งที่ถูกบัญญัติให้ปฏิบัติโดยไม่มีผู้ใดเห็นแย้งในประเด็นนี้

    มีรายงานจากอิบนุ อุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ว่าท่านได้ออกจากมัสญิดเพื่อเดินไปยังมุศ็อลลา ท่านจะไม่หยุดกล่าวตักบีรฺไปตลอดทาง จนกระทั่งอิมามผู้นำละหมาดได้เข้ามาถึงยังสถานที่ละหมาดนั้น (ดู สุนัน อัด-ดาเราะกุฏนียฺ 2/44 หมายเลข 4)

    และมีรายงานเล่าว่า ท่านอิบนุ มัสอูด เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ จะกล่าวตักบีรฺด้วยถ้อยคำว่า “อัลลอฮุอักบัรฺ, อัลลอฮุอักบัรฺ, ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮฺ, วัลลอฮุ อักบัรฺ, อัลลอฮุอักบัรฺ, วะลิลลาฮิลหัมดฺ" ซึ่งการตักบีรฺนี้ส่งเสริมให้กล่าวทั้งในมัสญิด ในบ้าน และบนถนนหนทาง (ดู มุศ็อนนัฟ อิบนิ อบี ชัยบะฮฺ 2/167)

    ประการที่แปด การละหมาดอีดนั้นเป็นภารกิจที่ส่งเสริมอย่างยิ่ง(สุนนะฮฺ มุอักกะดะฮฺ)ให้ปฏิบัติทั้งชายและหญิง และมีอุละมาอ์บางท่านกล่าวว่ามันเป็นวาญิบ พวกเขาได้อ้างหลักฐานที่เป็นหะดีษจากอุมมุ อะฏียะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา ว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้สั่งให้บรรดาหญิงสาวที่บรรลุวัยตามศาสนบัญญัติและหญิงที่มีประจำเดือนให้ออกไปที่สนามละหมาดอีดด้วย โดยให้บรรดาหญิงที่มีประจำเดือนอยู่ห่างๆ จากที่ละหมาด ให้พวกนางได้มีส่วนร่วมรับความดีงามและดุอาอ์ต่างๆ ของมวลมุสลิมในวันดังกล่าว (บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ หมายเลข 980)

    ประการที่เก้า การอวยพรในวันอีด ซึ่งได้มีรายงานที่เล่ามาจากเศาะหาบะฮฺบางท่านว่า พวกเขาได้กล่าวอวยพรแก่กันในวันอีดว่า “ตะก็อบบะลัลลอฮุ มินนา วะมินกุม" หมายถึง ขออัลลอฮฺทรงตอบรับการงานต่างๆ จากพวกเราและพวกท่านด้วยเถิด

    มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเป็นพระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก พรอันประเสริฐและความศานติของอัลลอฮฺจงมีแด่ท่านนบีมุหัมมัดของเรา บรรดาเครือญาติ ตลอดจนบรรดาเศาะหาบะฮฺทั้งหลายของท่านด้วยเทอญ