×
บทความอธิบายถึงความสำคัญของหัวใจ และสิ่งที่ถือว่าเป็นหน้าที่และการงานของหัวใจมนุษย์ซึ่งจะต้องดูแลเพื่อให้เปี่ยมด้วยความศรัทธาและปลอดพ้นจากภัยต่างๆ ทางด้านจิตใจ พร้อมทั้งยกตัวอย่างการงานบางประการที่ถือเป็นงานของหัวใจ เช่น การเนียต การตะวักกัล การหวัง เป็นต้น

    การงานของจิตใจ

    ﴿أعمال القلوب﴾

    ตัฟซีรอุชริลอะคีรฺ

    แปลโดย : ลุตฟีย์ อะห์มัด เจ๊ะเลาะ

    تفسير العشر الأخير

    ترجمة: لطفي أحمد


    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    การงานของจิตใจ

    อัลลอฮฺได้สร้างจิตใจและทำให้มันเป็นราชา และอวัยวะอื่นๆ ของร่างกายเป็นบริวารของมัน ถ้าหากว่าราชานั้นดี แน่นอนบริวารทั้งหลายต้องดีด้วย ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

    « وَإنَّ في الجَسَدِ مُضْغَة إذا صَلَحَتْ صَلَحَ الجسَدُ كُلهُ، وَإذا فَسَدَتْ فَسَدَ الجَسَدُ كُلُّهُ ألا وَهِيَ القَلْبُ »

    ความว่า “พึงรู้เถิดว่า แท้จริงแล้ว ในร่างกายเรานั้น มีเนื้อก้อนหนึ่ง ถ้าหากว่าเนื้อก้อนนั้นดี ร่างกายก็จะดีตามไปด้วย และถ้าหากว่าเนื้อก้อนนั้นไม่ดี ร่างกายของเราก็จะไม่ดีไปด้วย เนื้อก้อนนั้นก็คือ หัวใจนั่นเอง “ (บันทึกโดย บุคอรีย์ และมุสลิม)

    มันเป็นที่สำหรับอีมานและตักวา หรือเป็นที่สำหรับกุฟรฺ นิฟาก และชิริก ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

    « التَّقْوَى هَاهُنَا وَيُشِيرُ إِلَى صَدْرِهِ ثَلاثَ مَرَّاتٍ »

    ความว่า “การตักวา นั้น อยู่ที่นี่ และท่านยังชี้ไปที่หน้าอก สามครั้งด้วยกัน " (บันทึกโดย มุสลิม)

    ­ การศรัทธานั้น คือ การเชื่อมั่นและการพูดและการทำ คือ การยึดมั่นในใจ การกล่าวด้วยวาจาและการกระทำด้วยใจและอวัยวะ หากว่าใจนั้นศรัทธา และยึดมั่นแล้ว เขาก็จะต้องกล่าว ชะฮาดะฮฺด้วยวาจาออกมา หลังจากนั้นใจและอวัยวะก็จะทำงานต่างๆ ตามหน้าที่ของมัน เช่นใจก็จะมีความรักใคร่ ความกลัว ความปราถนาต่ออัลลอฮฺ ลิ้นก็เคลื่อนไหวอยู่เสมอ ด้วยการรำลึกถึงพระองค์ และอ่านกุรอาน อวัยวะอื่นๆ ก็เช่นกันคือจะมีการเคลื่อนไหว เช่น การสุญูด รุกูอฺ และงานอื่นๆ ที่เป็นการงานที่ดีที่สามารถใกล้ชิดพระองค์ตลอดเวลา ฉะนั้น ร่างกาย หรืออวัยวะนั้น มันจะทำตามคำบัญชาของใจนั่นเอง

    การงานของจิตใจหมายถึง การงานที่กำเนิดมาจากใจ และมีการเชื่อมโยงกับมัน และที่สำคัญที่สุด คือการศรัทธาต่ออัลลอฮฺ ﷻ‬ จากนั้นคือการเชื่อและการยึดมั่นต่อพระองค์ รวมทั้งความรัก การยำเกรง การปราถนา การมอบหมาย การอดทน การคุชูอฺ และอื่นๆ ที่บ่าวมีต่อพระองค์

    ­ การงานทุกอย่างที่มาจากใจ จะมีสิ่งที่ตรงกันข้ามกับมัน นั่นคือโรคของจิตใจ เช่น การอิคลาศ ตรงกันข้ามกับมันคือ ริยาอฺหรือการโอ้อวด การยะกีน(เชื่อมั่น)ตรงกันข้ามกับชักก์หรือสงสัย การรักใคร่ตรงกันข้ามกับความโกรธเกลียดเป็นต้น หากว่าเราปล่อยปะละเลย ไม่ทำการรักษาจิตใจของเราแล้ว แน่นอนมันจะสะสมบาปเรื่อยๆ จนกระทั่งมันจะทำลายคนๆนั้นในที่สุด ท่านนบี e ได้กล่าวว่า

    «إِنَّ الْعَبْدَ إِذَا أَخْطَأَ خَطِيئَةً نُكِتَتْ فِي قَلْبِهِ نُكْتَةٌ سَوْدَاءُ فَإِذَا هُوَ نَزَعَ وَاسْتَغْفَرَ وَتَابَ سُقِلَ قَلْبُهُ وَإِنْ عَادَ زِيدَ فِيهَا حَتَّى تَعْلُوَ قَلْبَهُ وَهُوَ الرَّانُ الَّذِي ذَكَرَ اللهُ»

    ความว่า “แท้จริงบ่าวนั้น หากว่าเขาทำผิดหนึ่งครั้ง เขาจะถูกประด้วยจุดสีดำหนึ่งจุดในใจของเขา และถ้าหากว่าเขาทำการเตาบัต และกล่าว อัสตัฆฟิรุลลอฮฺ จุดสีดำนั้นจะถูกลบออก และหากว่าเขาทำบาปอีก จุดนั้นจะกลับมาอีก หากทำบาปเพิ่มอีก มันจะกลับมาอีกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และสะสมยิ่งมาก เหมือนสนิมที่ก่อตัว ยากต่อการลบออก ดังที่อัลลอฮฺกล่าวไว้ในอัลกุรอานว่า

    ﮋ ﭹﭺ ﭻﭼ ﭽ ﭾ ﭿ ﮀ ﮁ ﮂ ﮊ

    ความว่า “มิใช่เช่นนั้น แต่สิ่งที่พวกเขาขวนขวายไว้นั้นได้เป็นสนิมบนหัวใจของพวกเขา" (อัล-มุฏ็อฟฟิฟีน 14) (บันทึกโดย อัต-ติรมีซีย์)

    และท่านนบี e กล่าวว่า

    «تُعْرَضُ الْفِتَنُ عَلَى الْقُلُوبِ كَالْحَصِيرِ عُودًا عُودًا فَأَىُّ قَلْبٍ أُشْرِبَهَا نُكِتَ فِيهِ نُكْتَةٌ سَوْدَاءُ وَأَىُّ قَلْبٍ أَنْكَرَهَا نُكِتَ فِيهِ نُكْتَةٌ بَيْضَاءُ حَتَّى تَصِيرَ عَلَى قَلْبَيْنِ عَلَى أَبْيَضَ مِثْلِ الصَّفَا فَلاَ تَضُرُّهُ فِتْنَةٌ مَا دَامَتِ السَّمَوَاتُ وَالأَرْضُ وَالآخَرُ أَسْوَدُ مُرْبَادًّا كَالْكُوزِ مُجَخِّيًا لاَ يَعْرِفُ مَعْرُوفًا وَلاَ يُنْكِرُ مُنْكَرًا إِلاَّ مَا أُشْرِبَ مِنْ هَوَاهُ»

    ความว่า “การทดสอบด้วยฟิตนะฮฺจะถูกนำเสนอแก่หัวใจเหมือนที่ปูพื้นซึ่งสอดใส่ไม้ทีละอันทีละอัน หัวใจของผู้ใดที่ซึมซับฟิตนะฮฺนั้นก็จะถูกประด้วยจุดดำ และหัวใจดวงไหนที่ปฏิเสธมันก็จะถูกประด้วยจุดขาว จนกระทั่งหัวใจทั้งสองนั้นอันหนึ่งขาวเหมือนหินเกลี้ยงซึ่งไม่มีวันที่การทดสอบด้วยฟิตนะฮฺจะทำลายมันได้ตราบเท่าฟ้าดินสลาย ส่วนหัวใจอีกดวงหนึ่งนั้นดำมืด เหมือนกูซ(ภาชนะที่ใช้ดื่มน้ำแบบกลับหัวซึ่งผู้ดื่มจะเห็นข้างในมืดสนิท)ที่เทหมด(จนสิ่งอื่นไม่มีอะไรเข้าไปได้อีก) ไม่รู้จักความดีงามใดๆ และไม่ปฏิเสธความชั่วใดๆ ยกเว้นตามที่อารมณ์ของมันซึมซับกลืนกิน" (มุสลิม)

    ­การงานของจิตใจนั้นมีความสำคัญต่อบ่าวมากกว่าการงานของร่างกายหรืออวัยวะ เพราะว่ามันเป็นแก่นแท้ ส่วนการงานของร่างกายนั้น เป็นกิ่งก้านสาขาย่อยจากมัน และเป็นส่วนประกอบมาเติมเต็มให้สมบูรณ์ ท่านนบี e ได้กล่าวว่า

    « إنَّ اللهَ لا يَنْظُر ُإلى صُوَركُمْ وَأمْوَالِكُمْ وَلَكِنْ ينْظُرُ إلى قُلُوْبكُمْ وَأعْمَالِكُمْ »

    ความว่า “แท้จริงแล้วอัลลอฮฺนั้นไม่ได้ดูจากรูปลักษณ์ภายนอก และไม่ได้ดูจากความร่ำรวย แต่ทว่าพระองค์นั้น จะดูที่จิตใจและอะมัลของแต่ละคน " ( บันทึกโดย มุสลิม)

    ฉะนั้นแล้ว จิตใจนั้นเป็นที่แห่งความรู้ การใคร่ครวญ และการคิด ด้วยเหตุนี้เองมนุษย์ในสายตาหรือในทัศนะของพระองค์นั้นไม่เท่าเทียมกัน จะดีมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่ที่จิตใจของเขาว่ามีความศรัทธา ความจริงใจ และความเชื่อมั่น หรือสิ่งที่คล้ายกันนี้มากน้อยเพียงไหน? ท่านหะสัน อัล-บัศรีย์ เราะฮิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า “ ฉันขอสาบานกับอัลลอฮฺ ท่านอบูบักรฺนั้นไม่ได้เหนือกว่าพวกเขาเหล่านั้น (หมายถึงบรรดาเศาะหาบะฮฺ) ไม่ว่าจะด้วยการละหมาดหรือด้วยการถือศีลอดของท่าน แต่ทว่าท่านเหนือกว่าพวกเขาด้วยอีมานที่ปักหลักอยู่ในใจของท่านต่างหาก"

    ­ การงานของจิตใจนั้นดีกว่าการงานของร่างกายหรืออวัยวะ จากหลายแง่มุมดังนี้ 1) ถ้าการงานของจิตใจบกพร่องอาจทำให้การงานของร่างกายไม่ได้ประโยชน์หรือเสียไปเลย เช่น การลำพองตัว(ริยาอ์)ในการทำความดีเป็นต้น 2) การงานของจิตใจนั้นเป็นรากฐาน ฉะนั้นอะไรที่เราทำ จะเป็นคำกล่าว หรือการกระทำ ถ้าหากว่าไม่มีการเจตนาในใจแล้วก็จะไม่เกิดผล 3) มันเป็นสาเหตุให้ได้รับขั้นที่สูงส่งในสวนสวรรค์ เช่น ความสมถะพอเพียง 4) เป็นการงานที่ยากกว่า การงานของอวัยวะอื่นๆ ท่านอิบนุ อัล-มุนกาดิร เราะฮิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า “ฉันได้ประคับประคองตัวของฉันสี่สิบปี จนกระทั่งมันดีจนทุกวันนี้" 5) มันให้ผลดีที่งดงามกว่า เช่น การรักเพื่ออัลลอฮฺ 6) มันได้ผลบุญที่ใหญ่หลวงกว่า ท่านอบู อัด-ดัรฺดาอ์ t ได้กล่าวว่า “การคิดเพียงชั่วโมงเดียว ดีกว่าการละหมาดยามกลางคืนทั้งคืน" 7) มันช่วยกระตุ้นให้อวัยวะอื่นทำงาน 8) มันสามารถทำให้ได้ผลบุญมาก หรือน้อย หรือไม่ได้เลย เช่น การคุชูอฺในการละหมาด 9) บางทีมันทดแทนอิบาดะฮฺของอวัยวะอื่นได้ เช่น เนียตเศาะดะเกาะฮฺในขณะที่ไม่มีเงินจะให้บริจาคจริงๆ 10) ผลบุญของมันไม่จำกัด เช่น การศอบัรฺ(อดทน) 11) ผลบุญของมันได้ตลอดถึงแม้ว่าร่างกายไม่ได้ทำ หรือไม่มีความสามารถที่จะทำแล้ว 12) งานของจิตใจมาก่อนการงานของร่างกายหรือมาพร้อมๆ กัน

    ­ จิตใจนั้นจะผ่านกระบวนการหลายลักษณะก่อนที่อวัยวะอื่นๆ จะเริ่มทำงาน

    1) อัล-ฮาญิส คือ ความคิดเริ่มแรกที่ผ่านมาในใจ

    2) อัล-คอฏิเราะฮฺ คือ สิ่งที่สถิตอยู่ในใจแล้ว

    3) หะดีษ อัน-นัฟสฺ คือ ความลังเล ว่าเขาจะทำสิ่งนั้นหรือไม่

    4) อัล-ฮัมม์ คือ เลือกว่าจะทำ

    5) อัล-อะซัม คือ ตั้งใจแน่วแน่และเจตนาอย่างจริงจังที่จะทำ

    และทั้งสามข้อแรกตั้งแต่ข้อ 1-3 นั้นไม่มีผลบุญใดๆ ถ้าหากว่าเป็นการทำความดี และไม่เป็นบาปถ้าหากว่าเป็นการทำมะอฺศิยัต แต่สำหรับอัล-ฮัมม์นั้น จะถูกบันทึกให้เป็นผลบุญถ้าหากเป็นสิ่งที่ดี แต่จะไม่ถูกบันทึกบาปหากว่าเป็นสิ่งที่ชั่ว ยกเว้นหากว่าเขาทำชั่วจริงๆ สำหรับ อัล-ฮัมม์ นั้นถ้าหากว่ามันเปลี่ยนเป็น อัล-อะซัมแล้ว ถ้าเป็นสิ่งที่ดีเขาก็จะได้ผลบุญ และหากเป็นสิ่งที่ชั่วก็จะได้รับบาปถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้ลงมือทำก็ตาม เพราะมันเป็นความต้องการที่จะทำพร้อมๆ กับความสามารถที่จะทำได้ ซึ่งจะนำไปสู่พฤติกรรมจริงๆ ได้ อัลลอฮฺ ﷻ‬ ได้ตรัสว่า

    ﮋ ﯳ ﯴ ﯵ ﯶ ﯷ ﯸ ﯹ ﯺ ﯻ ﯼ ﯽ ﯾ ﮊ

    ความว่า “แท้จริงแล้ว บรรดาผู้ที่ชอบที่จะให้ความชั่วช้าหยาบคายกระจายฟุ้งในหมู่ผู้ศรัทธานั้น พวกเขาจะได้รับการลงโทษอันเจ็บปวด" (อัน-นูร 19)

    ท่านนบี e ได้กล่าวว่า

    «إِذَا الْتَقَى الْمُسْلِمَانِ بِسَيْفَيْهِمَا فَالْقَاتِلُ وَالْمَقْتُولُ فِي النَّارِ فَقُلْتُ يَا رَسُولَ اللهِ هَذَا الْقَاتِلُ فَمَا بَالُ الْمَقْتُولِ قَالَ إِنَّهُ كَانَ حَرِيصًا عَلَى قَتْلِ صَاحِبِهِ»

    ความว่า “ถ้าหากว่ามุสลิมสองคนได้ทำการรบกัน แท้จริงคนที่ฆ่า และผู้ที่ถูกฆ่าจะอยู่ในขุมนรกทั้งสองคน และฉันได้กล่าวว่า(หมายถึง เศาะหาบะฮฺ )โอ้ท่านรอซูลของอัลลอฮฺ ผู้ที่ฆ่าเข้านรก แล้วเหตุอะไรเล่าที่ผู้ถูกฆ่าเข้านรกด้วย ? ท่านก็กล่าวว่า “เขา(ผู้ที่ถูกฆ่า)นั้นพยายามที่จะฆ่าเพื่อนของเขาเหมือนกัน " (บันทึกโดย อัลบุคอรีย์)

    หากว่าทิ้งมะอฺศิยัตหลังจากที่มีการตั้งใจแน่วแน่ว่าจะทำหรืออะซัมไว้แล้ว มีอยู่สี่ประเภทด้วยกันคือ

    1) ละทิ้งเพราะเกรงกลัวอัลลอฮฺ แน่นอนเขาจะได้ผลบุญ

    2) ละทิ้งเพราะเกรงกลัวเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เขาจะได้รับบาป เพราะว่าการละทิ้งมะอฺศิยัตนั้นเป็นอิบาดะฮฺ ฉะนั้นต้องทำเพื่ออัลลอฮฺองค์เดียวเท่านั้น

    3) ละทิ้งเพราะว่าไม่มีความสามารถที่จะทำมัน และไม่หาหนทางเพื่อไปถึงมัน เช่นนี้เขาจะได้รับบาปเช่นเดียวกัน เพราะเนียตของเขาที่มีเจตนาแน่วแน่ที่จะทำความชั่วแล้ว

    4) ละทิ้งเพราะว่าไม่มีความสามารถที่จะทำมัน แต่พยายามหาหนทางเพื่อไปถึงมัน แต่ว่าหนทางนั้นไม่สำเร็จ เขาจะได้รับบาปเช่นเดียวกัน เพราะความพยายามที่ไม่ดีของเขา ถึงแม้ว่าเขาจะทำไม่สำเร็จก็ตาม

    การงานของจิตใจบางประการ

    ­ เนียต คือ ความต้องการหรือมีเจตนา การงานจะใช้ไม่ได้และจะไม่ถูกตอบรับหากปราศจากการเนียต ท่าน นบี ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

    «إِنَّمَا الأَعْمَالُ بِالنِّيَّاتِ وَإِنَّمَا لِكُلِّ امْرِئٍ مَا نَوَى»

    ความว่า “แท้จริงการงานทั้งหลายขึ้นอยู่กับการเนียต และแน่นอนทุกคนย่อมได้รับผลตอบแทนตามที่เขาได้เนียตเอาไว้" (มุตตะฟะกุน อะลัยฮฺ)

    และอิบนุ อัล-มุบาร็อก เราะฮิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า “ อันการงานที่เล็กน้อยนั้น มันจะเพิ่มพูนมากได้ด้วยด้วยการเนียต และการงานที่มากมายนั้น มันอาจจะให้น้อยได้ด้วยการเนียตเช่นกัน " และท่านฟุฏัยลฺ เราะฮิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า “ แท้จริงพระองค์อัลลอฮฺ ทรงต้องการจากท่าน ซึ่งการเนียตของท่านและความปรารถนาของท่าน หากว่าการงานนั้นทำเพื่อพระองค์ จะเรียกว่า อิคลาศ นั่นก็คือการงานทุกอย่างทำเพื่ออัลลอฮฺ โดยไม่ได้แบ่งเพื่อสิ่งอื่นใดในโลกนี้ และหากว่าการงานนั้นทำเพื่อสิ่งอื่นนอกเหนือจากพระองค์ จะเรียกว่า ริยาอ์ หรือ นิฟาก หรืออื่นๆ"

    สาระน่ารู้: มนุษย์ทุกคนนั้นจะต้องหายนะ นอกจากผู้ที่มีความรู้ และคนที่มีความรู้จะเกิดความหายนะ นอกจากคนที่ปฏิบัติสิ่งที่เขารู้ และคนที่ปฏิบัตินั้นจะเกิดความหายนะ นอกจากว่าเขาจะได้อิศลาศในการงานของเขา ดังนั้น หน้าที่ประการแรกที่จำเป็นสำหรับทุกคนที่ต้องการภักดีต่อพระองค์ที่จะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับการเนียต หลังจากนั้นให้มีการปรับปรุงมันให้ถูกต้องด้วยการลงมือทำหลังจากที่ได้รับรู้เกี่ยวกับความซื่อสัตย์และอิคลาศ เพราะว่าการงานนั้น ถ้าปราศจากการเนียตแล้วเป็นการเหนื่อยเปล่า การเนียตถ้าปราศจากการอิคลาศก็จะเกิดเป็นริยาอ์โอ้อวด และการอิคลาศโดยไม่ได้ก่อให้เกิดอีมานก็เปล่าประโยชน์เช่นเดียวกัน

    การงานแบ่งออกเป็น 3 ประเภท

    1) มะอาศีย์ หรือการทำบาป การเนียตดีในการทำมะอฺศิยัตนั้นไม่ถือว่าเป็นการทำความดี ถึงแม้ว่าเขาจะมีเจตนาดีก็ตาม และหากว่าการทำมะอฺศิยัตแล้วมีเจตนาที่ไม่ดีอีก ก็จะเพิ่มบาปทวีคูณเป็นเท่า

    2) มุบาหาต (สิ่งที่อนุญาต) สิ่งที่อนุญาตทุกอย่างก็จำเป็นจะต้องมีการเนียต โดยเฉพาะหากว่าต้องการให้สิ่งนั้นเป็นการอิบาดะฮฺให้ใกล้ชิดพระองค์อัลลอฮฺ

    3) ฏออาต หรือการเชื่อฟัง ต้องอาศัยการเนียตที่ดีตั้งแต่เริ่มแรกของการงานอยู่แล้ว จึงจะได้รับผลบุญ มิฉะนั้นแล้วจะศูนย์เปล่า[1] และหากเจตนาริยาอ์โอ้อวดให้คนอื่นเห็นสิ่งที่ทำ มันจะเป็นมะอฺศิยัต และเป็นชิริกเล็ก และอาจพาไปเป็นชิริกใหญ่ก็ได้ มันมีสามกรณี

    1) มีเจตนาตั้งแต่แรกแล้วเพื่อให้คนอื่นเห็น กรณีนี้ถือว่าเป็นชิริก และอิบาดะฮฺจะใช้ไม่ได้

    2) เจตนาในการทำเพื่ออัลลอฮฺ แล้วเกิดการริยาอ์ขึ้นมาระหว่างนั้น หากว่าเป็นอิบาดะฮฺที่ไม่ได้เชื่อมโยงกันระหว่างส่วนหน้ากับส่วนหลัง เช่น การเศาะดะเกาะฮฺ เริ่มแรกที่ทำนั้นถือว่าใช้ได้ แต่ที่ทำตอนหลังนั้นย่อมเสียใช้ไม่ได้ และหากว่าเป็นอิบาดะฮฺที่เชื่อมโยงระหว่างกัน เช่น การละหมาด ก็มีสองกรณีด้วยกัน หนึ่ง พยายามลบความรู้สึกริยาอ์ออกไป กรณีนี้การริยาอ์จะไม่ส่งผลใดๆ ต่ออะมัล สอง ยินยอมที่จะมีการริยาอ์ดำเนินต่อไป กรณีนี้อิบาดะฮฺทุกอย่างจะเสียและใช้ไม่ได้

    3) เกิดการริยาอ์หลังจากปฏิบัติภารกิจเสร็จสิ้นแล้ว กรณีนี้ถือว่าเป็นเพียงความลังเล(วัสวาส)ที่ไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อการงานที่ได้ทำไปแล้วและไม่มีผลต่อผู้ปฏิบัติอะมัล และยังมีกรณีของริยาอ์อีกมากมายที่ต้องเรียนรู้และควรระมัดระวัง

    หากว่าเจตนาทำการงานที่ศอลิหฺเพื่อผลตอบแทนของโลกดุนยา แท้จริงแล้วผลบุญของเขาหรือผลบาปของเขานั้นจะขึ้นอยู่กับการเจตนาของเขาว่ามากน้อยเพียงใด มันมีสามกรณีด้วยกัน

    1) เป้าหมายในการงานของเขาเพื่อดุนยาเท่านั้น เช่น คนที่นำละหมาด เพื่อกินเงินเดือนเท่านั้น แน่นอนว่าเขาจะได้รับบาป ดังที่ท่านนบี e ได้กล่าวว่า

    «مَنْ تَعَلَّمَ عِلْمًا مِمَّا يُبْتَغَى بِهِ وَجْهُ اللهِ عَزَّ وَجَلَّ لا يَتَعَلَّمُهُ إِلا لِيُصِيبَ بِهِ عَرَضًا مِنْ الدُّنْيَا لَمْ يَجِدْ عَرْفَ الْجَنَّةِ يَوْمَ الْقِيَامَةِ»

    ความว่า “ผู้ใดที่แสวงหาความรู้ซึ่งเป็นความรู้ที่ควรหาเพื่อหวังความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ แต่เขาไม่ได้แสวงหามันนอกเสียจากเพื่อหวังผลประโยชน์ของดุนยา แน่นอนเขาจะไม่ได้ลิ้มรสกลิ่นอายของสวนสวรรค์ในวันกิยามะฮฺ" (บันทึกโดย อบูดาวูด)

    2) ทำงานเพื่ออัลลอฮฺ และเพื่อหวังผลประโยชน์ดุนยาด้วย จะถือว่าอีมานของเขานั้นยังไม่สมบูรณ์นัก เช่น คนที่ไปทำหัจญ์และเจตนาจะไปค้าขายด้วย ผลบุญของการทำหัจญ์ก็อยู่ที่การอิคลาศของเขามากน้อยเพียงใด

    3) ทำการงานเพื่อพระองค์เพียงผู้เดียวเท่านั้น แต่ว่าเขาไม่ลืมทำงานเลี้ยงชีพ จะถือว่าผลบุญของเขานั้นเต็มโดยไม่ขาดหาย ท่านนบี e ได้กล่าวว่า

    «إِنَّ أَحَقَّ مَا أَخَذْتُمْ عَلَيْهِ أَجْرًا كِتَابُ اللهِ»

    ความว่า “แท้จริง สิ่งสมควรที่สุดที่พวกท่านจะรับผลตอบแทนจากมันก็คือ คัมภีร์(อัลกุรอาน)ของพระองค์อัลลอฮฺ" (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์)

    พึงรู้ว่าคนที่ทำงานที่อิคลาสนั้น มีหลายระดับ

    1) ระดับต่ำ นั่นก็คือ คนที่ทำงานหวังผลบุญจากพระองค์ และเกรงกลัวต่อโทษทันฑ์

    2) ระดับปานกลาง นั่นก็คือ คนที่ทำงานนั้นเพื่อขอบคุณ(ชุโกร)ต่อพระองค์ และตอบรับสิ่งที่พระองค์ทรงใช้

    3) ระดับสูงสุด นั่นก็คือ คนที่ทำงานเพราะความรักใคร่และยกย่องและเชิดชูต่อพระองค์ และนี่เป็นระดับของบรรดา “อัศ-ศิดดีกีน"[2]

    ­ การเตาบัต (การกลับเนื้อกลับตัว) วาญิบหรือจำเป็นตลอดเวลาที่ควรจะมีการเตาบัต เพราะว่าการมีบาปเป็นสันดานของมนุษย์ ท่านนบี e ได้กล่าวว่า

    « كُلُّ ابْنِ آدَمَ خَطَّاءٌ وَخَيْرُ الْخَطَّائِينَ التَّوَّابُونَ »

    ความว่า “บรรดาลูกหลานอาดัมทุกคนนั้น มีความผิด(มีบาป) และคนที่ผิดที่ดีที่สุด คือ คนที่ชอบเตาบัตตัว " (บันทึกโดย อัต-ติรมีซีย์)

    และท่านกล่าวอีกว่า

    «لَوْ لَمْ تُذْنِبُوا لَذَهَبَ اللهُ بِكُمْ وَلَجَاءَ بِقَوْمٍ يُذْنِبُونَ فَيَسْتَغْفِرُونَ اللهَ فَيَغْفِرُ لَهُمْ »

    ความว่า “หากสูเจ้าทั้งหลายไม่ทำบาปเลย แน่นอนว่าพระองค์จะทรงเปลี่ยน และนำมาซึ่งประชาชาติอื่นและเขาเหล่านั้นมีความผิด (มีบาป) และพวกเขาได้ขอลุแก่โทษยังพระองค์ แล้วพระองค์ก็จะทรงอภัยให้แก่เขา" (บันทึกโดย มุสลิม)

    และการล่าช้าในการเตาบัต พร้อมกับทำบาปตลอดเวลานั้น เป็นสิ่งที่ผิด หรือเป็นความคิดที่ผิดๆ และชัยฏอนนั้นต้องการที่จะชนะมนุษย์ ด้วยวิธีเจ็ดประการด้วยกัน ซึ่งหากว่าไม่สำเร็จแผนที่หนึ่ง มันจะเปลี่ยนแผนไปยังอีกแผนถัดไป

    1) ให้มีการตั้งภาคี(ชิริก)และการกุฟุรฺต่อพระองค์อัลลอฮฺ

    2) หากว่าไม่สำเร็จมันจะยุให้มนุษย์ทำบิดอะฮฺในด้านความเชื่อ และทิ้งการทำตามซุนนะฮฺของท่านนบีและซุนนะฮฺของบรรดาเศาะหาบะฮฺ

    3) หากไม่สำเร็จ มันจะหลอกลวงมนุษย์ให้ทำบาปใหญ่

    4) หากไม่สำเร็จอีกก็จะหลอกให้ทำบาปเล็ก

    5) หากไม่สำเร็จอีกก็จะหลอกให้ทำสิ่งที่มุบาหาตซึ่งไม่มีทั้งบาปและบุญให้เยอะจนเกินเลย

    6) หากไม่สำเร็จอีกก็จะหลอกให้ทำสิ่งที่มีผลบุญน้อย ในขณะที่มีสิ่งอื่นดีกว่าและมีบุญมากกว่า

    7) หากไม่สำเร็จอีก ก็จะให้บรรดาชัยฏอนญินและชัยฏอนมนุษย์นั้นมาคอยสร้างความเดือดร้อนทำร้ายครอบงำเขา

    มะอาศีย์(บาป) มีหลายประเภท

    1) บาปใหญ่ นั่นคือ ถ้าทำแล้วจะมีบทลงโทษที่ถูกกำหนดไว้ในโลกดุนยา หรือมีโทษที่ถูกสัญญาไว้ในอาคิเราะฮฺ หรือมีความโกรธกริ้ว หรือสาปแช่ง หรือปฏิเสธว่าไม่ใช่อีมาน

    2) บาปเล็ก นั่นคือ นอกเหนือจากสิ่งที่กล่าวมาในบาปใหญ่ และนอกจากนั้นบาปเล็กสามารถเปลี่ยนเป็นบาปใหญ่ได้ โดยเฉพาะ ถ้าทำบาปเล็กอย่างสม่ำเสมอ หรือทำเป็นประจำ หรือลำพองตัวกับการทำบาป หรือทำบาปอย่างเปิดเผย

    การเตาบัตนั้น ทำได้สำหรับทุกคนที่ทำบาปทุกประเภท และยังเปิดโอกาสเสมอจนกระทั่งดวงอาทิตย์ขึ้นทางตะวันตก(นั่นคือวันกิยามะฮฺ )หรือก่อนดวงวิญญานจะออกจากเรือนร่าง และคนที่เตาบัตหากว่าเขาเตาบัตจริงๆ ด้วยใจที่บริสุทธิ์ บาปของเขาจะถูกเปลี่ยนเป็นผลบุญ ถึงแม้ว่าบาปของเขานั้นจะมากมายเท่าฟ้าก็ตาม

    การเตาบัตนั้นมีเงื่อนไขดังนี้

    1) ต้องถอนตัวจากการทำบาป

    2) ต้องสำนึกเสียใจจากสิ่งที่ผ่านมา

    3) ต้องตั้งเจตนารมณ์ว่าจะไม่กลับทำบาปอีก และหากว่าบาปนั้นเกี่ยวข้องกับสิทธิของ มัคลูกหรือลูกหลานอาดัม ลำดับแรกจะต้องคืนสิ่งของนั้นให้กับเจ้าของเขาก่อน[3]

    มนุษย์นั้นเกี่ยวกับการเตาบัตมีสี่ระดับ

    1) คนที่เตาบัตและอยู่ในครรลองของศาสนา จนกระทั่งเสียชีวิตจากโลกนี้ และเขาไม่เคยคิดเลยว่าจะกลับไปหามะอฺศิยัตอีก นอกเสียจากความผิดพลาดบางอย่างที่มนุษย์ยากจะเลี่ยงได้ นี่คือการยืนหยัดบนเตาบัต ผู้เตาบัตนี้เป็นคนที่มุ่งมั่นทำดี ซึ่งเราเรียกการเตาบัตนี้ว่า “เตาบัต อันนะศูฮฺ" และจิตใจของคนผู้นี้คือ อัน-นัฟสุล มุฏมะอินนะฮฺ หรือจิตใจที่สงบนิ่ง

    2) คนที่เตาบัตและทำความดีหลักๆ อย่างสม่ำเสมอ แต่ว่ายังทำมะอฺศิยะฮฺบางอย่างโดยไม่สามารถจะเลิกได้ และไม่ได้ตั้งใจเจตนาที่จะทำ แต่เขาตกอยู่ในภาวะที่เลิกไม่ได้โดยไม่ได้ตั้งใจจริงที่จะทำมัน และเมื่อทำแล้วจะรู้สึกผิดและเสียใจทุกครั้ง พร้อมกับคิดตั้งใจที่จะป้องกันตัวเองจากสาเหตุของมัน นี่คือจิตใจแบบ อัน-นัฟสุล เลาวามะฮฺ

    3) คนที่เตาบัตและอยู่ในครรลองของศาสนาช่วงระยะหนึ่ง หลังจากนั้นอารมณ์ใฝ่ต่ำก็ครอบงำเขาให้ทำบาปบางอย่าง เขาก็จะทำสิ่งไม่ดีไม่งาม แต่เขาก็รักษาการทำดีอย่างสม่ำเสมอ และได้ละทิ้งบาปบางอย่างทั้งๆ ที่เขาเองก็สามารถทำได้และมีอารมณ์ที่จะทำมันอยู่ ทว่ามันยังมีอารมณ์อีกบางส่วนที่ครอบงำชนะตัวเขา เมื่อทำผิดเสร็จก็เสียใจ แต่เขาเองก็สัญญากับตัวเองเพื่อจะเตาบัตจากบาปนั้น นี่คือ อัน-นัฟสุล มัสอูละฮฺ คนประเภทนี้จะเสี่ยงมากและอันตราย หากเขาเสียชีวิตโดยปล่อยปะละเลยไม่ทันที่จะเตาบัตตัว เพราะการงานนั้นจะถูกถือใช้ในส่วนที่เป็นบั้นปลายชีวิต

    4) คนที่เตาบัตและอยู่ในครรลองของศาสนาช่วงระยะหนึ่ง หลังจากนั้น เขาตกเป็นเหยื่อของบาปต่างๆ โดยไม่ได้นึกคิดที่จะเตาบัตเลย และก็ไม่ได้รู้สึกสำนึกหรือเสียใจในการทำบาปเลย คนประเภทนี้จะเรียกว่า อัน-นัฟสุลอำมาเราะฮฺ บิสสูอ์ และเป็นที่เกรงกลัวว่าเขาจะพบกับบั้นปลายที่เลวร้าย

    ­ อัศ-ศิดกฺ (ความซื่อสัตย์สุจริต) มันเป็นงานของจิตใจอย่างแท้จริง และคำๆ นี้มีหกความหมายด้วยกัน

    1) ซื่อสัตย์ ในคำพูด

    2) ซื่อสัตย์ในเจตนารมณ์และความมุ่งหมาย(อิคลาศ)

    3) ซื่อสัตย์ในการตั้งใจแน่วแน่

    4) ซื่อสัตย์ในคำมั่นสัญญาตามความตั้งใจแน่วแน่นั้น

    5) ซื่อสัตย์ในการปฏิบัติ โดยที่ภายนอกนั้น ตรงกับสิ่งที่อยู่ในใจ เช่น การคุชูอฺ ในการละหมาด

    6) ซื่อสัตย์ในคำสอนของศาสนาทั้งหมด และนี่เป็นจุดสุดยอดและสูงส่ง เช่น การซื่อสัตย์เกี่ยวกับการยำเกรงต่อพระองค์ ความหวัง ความพอเพียง การยอมรับ การมอบหมาย และความรักใคร่ และในทุกๆ อย่างที่เป็นการงานของจิตใจ หากผู้ใดที่มีสิ่งดังกล่าวข้างต้นแล้ว ก็จะถูกเรียกนามว่า“ศิดดี๊ก" เพราะเขาเป็นคนที่มีความสุดยอดของความซื่อสัตย์ ท่านนบี e ได้กล่าวว่า

    « عَلَيْكُمْ بِالصِّدْقِ فَإِنَّ الصِّدْقَ يَهْدِى إِلَى الْبِرِّ وَإِنَّ الْبِرَّ يَهْدِى إِلَى الْجَنَّةِ وَمَا يَزَالُ الرَّجُلُ يَصْدُقُ وَيَتَحَرَّى الصِّدْقَ حَتَّى يُكْتَبَ عِنْدَ اللهِ صِدِّيقًا»

    ความว่า “เจ้าทั้งหลายจงมีความซื่อสัตย์ เพราะความซื่อสัตย์สุจริตนั้น จะนำพาซึ่งความดีงาม และความดีงามนั้น จะนำพาไปยังสวนสรรค์ และชายที่ดำรงในการซื่อสัตย์ และแสวงหาความซื่อสัตย์อยู่เสมอ จนกระทั่งพระองค์อัลลอฮฺได้บันทึกว่าเขาเป็น ศิดดี๊ก ผู้ที่มีความซื่อสัตย์อย่างที่สุด" ( มุตตะฟักกุน อะลัยฮฺ )

    และหากว่าผู้ใดที่มีความเคลือบแคลงต่อความถูกต้อง แล้วเขาก็แสวงหาสัจธรรมอย่างซื่อสัตย์โดยไม่ได้ตามอารมณ์ใฝ่ต่ำของเขา แน่นอนพระองค์จะให้สิ่งนั้นโดยส่วนใหญ่ และหากว่าเขาหาสัจธรรมโดยใช้ความพยายามอย่างซื่อสัตย์ แต่ว่าไม่พบความจริงนั้น พระองค์ก็จะทรงอภัยให้เขา

    และสิ่งที่ตรงกันข้ามกับคำว่า ซื่อสัตย์ นั่นก็คือ การโกหกมดเท็จ และสิ่งแรกของบ่อเกิดการโกหกมาจากใจ แล้วลามมาที่ลิ้น หลังจากนั้น มันจะค่อยๆ ลามมาที่อวัยวะทุกส่วนของร่างกายมนุษย์ และมันจะทำให้เขาประสบแต่ความหมายนะ

    ­ อัล-มะหับบะฮฺ (ความรักใคร่) ด้วยการรักอัลลอฮฺ รักรอซูล และรักบรรดาพี่น้องมุสลิม เขาจะได้ลิ้มรสความหวานชื่นของอีมาน ท่านนบี e ได้กล่าวว่า

    « ثَلاَثٌ مَنْ كُنَّ فِيهِ وَجَدَ بِهِنَّ حَلاَوَةَ الإِيمَانِ، مَنْ كَانَ اللهُ وَرَسُولُهُ أَحَبَّ إِلَيْهِ مِمَّا سِوَاهُمَا، وَأَنْ يُحِبَّ الْمَرْءَ لاَ يُحِبُّهُ إِلاَّ لِلهِ، وَأَنْ يَكْرَهَ أَنْ يَعُودَ فِى الْكُفْرِ، بَعْدَ أَنْ أَنْقَذَهُ اللهُ مِنْهُ، كَمَا يَكْرَهُ أَنْ يُقْذَفَ فِى النَّارِ»

    ความว่า “สามอย่าง หากว่าใครมีมัน เขาจะได้ลิ้มรสความหวานฉ่ำของอีมาน คือ การที่อัลลอฮฺและรอซูลเป็นที่รักใคร่แก่เขาเหนือสิ่งอื่นใด และการที่เขารักคนอื่นโดยที่เขาไม่ได้รักเขานอกจากรักเพื่ออัลลอฮฺจริงๆ และการที่เขาเกลียดที่จะกลับไปหาสิ่งที่เป็นกุฟรฺ หลังจากที่พระองค์ช่วยเหลือเขาให้รอดพ้นจากมัน ดังที่เขาเกลียดที่จะถูกโยนเขาไปในขุมนรก" (มุตตะฟักกุน อะลัยฮฺ)

    หากว่าคนใดที่ปลูกต้นของความรักในใจ แล้วถูกรดด้วยน้ำเลี้ยงแห่งความอิคลาศ และการปฏิบัติตามท่านนบีแล้ว แน่นอนว่าต้นไม้นั้นจะต้องออกผลอย่างมากมายทุกฤดูกาลด้วยความประสงค์ของพระองค์ และความรักใคร่นั้นมี 4 ประเภท

    1) การรักอัลลอฮฺ และนี่คือแก่นแท้ของอีมาน

    2) รักเพื่ออัลลอฮฺ และเกลียดเพื่ออัลลอฮฺเช่นกัน และนี่เป็นสิ่งที่วาญิบ [4]

    3) รักอัลลอฮฺพร้อมกับอย่างอื่นด้วย สิ่งนี้เรียกว่า การชิริกต่อพระองค์ เช่น ความรักของชาวมุชริกีนที่มีต่อรูปปั้นของเขา

    4) ความรักปกติ เช่น รักพ่อแม่ รักลูกๆ ชอบอาหารต่างๆ สิ่งนี้เป็นที่อนุญาตในศาสนา ท่านนบี e ได้กล่าวว่า

    «ازْهَدْ فِي الدُّنْيَا يُحِبَّكَ اللهُ»

    ความว่า “จงมีความสมถะพอเพียงต่อโลก แน่นอนอัลลอฮฺจะทรงรักท่าน" (รายงานโดยอิบนุ มาญะฮฺ)

    ­ อัต-ตะวักกัล (การมอบหมาย) นั่นก็คือ การมอบหมายการงานต่ออัลลอฮฺในสิ่งที่เราต้องการและปัดป้องสิ่งที่ไม่ปรารถนา พร้อมกับมั่นใจต่อพระองค์ และลงมือทำปัจจัยซึ่งเป็นมูลเหตุของความสำเร็จตามที่ศาสนาอนุญาต การปล่อยไม่ให้หัวใจมอบหมายถือเป็นการทำลายความเชื่อมั่นในเอกภาพของอัลลอฮฺ และการไม่หาสาเหตุเพื่อทำให้บรรลุผลถือเป็นความอ่อนแอและบกพร่องทางปัญญา และเวลาของการมอบหมายก็คือก่อนลงมือทำ ซึ่งแบ่งออกเป็นสามประเภท

    1) วาญิบ นั่นก็คือมอบหมายต่อพระองค์ในสิ่งที่มนุษย์ไม่มีความสามารถนอกจากพระองค์เท่านั้น เช่น การทำให้หายจากการป่วย

    2) หะรอม มีสองประเภท หนึ่ง เป็นชิริกใหญ่ นั่นคือการมอบหมายอย่างหมดใจต่อมูลเหตุหรือปัจจัย และคิดว่าสาเหตุนั้นมีประโยชน์หรือคิดว่าสาเหตุนั้นสามารถขับไล่สิ่งที่ไม่ดีได้ [5] สอง เป็นชิริกเล็ก เช่น การพึ่งคนที่ให้ริซกีโดยไม่ได้นึกว่าคนๆ นั้นเป็นเหตุของริซกี แต่ว่าพึ่งพิงเขามากกว่าสถานะของเขาที่เป็นเพียงแค่มูลเหตุเท่านั้น

    3) อนุญาติ (มุบาหฺ) นั่นก็คือ การมอบหมายการงานกับคนอื่นที่มีความสามารถจะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ เช่น การค้าขาย แต่มีข้อแม้ว่าห้ามพูดว่า “ฉันมอบหมายต่ออัลลอฮฺ แล้วขอมอบหมายต่อคุณ" แต่ให้กล่าวว่า “ฉันมอบงานให้คุณทำแทน "

    ­ อัช-ชุกรฺ (การขอบคุณ) นั่นก็คือ การแสดงให้เห็นผลหรือร่องรอยของนิอฺมัตที่พระองค์ประทานให้มาแก่บรรดาบ่าวทั้งหลาย ที่ใจของเขาด้วยการอีมาน ที่ลิ้นของเขาด้วยวาจาการกล่าวสรรเสริญและสดุดี และที่กิริยาท่าทางของเขาด้วยการอิบาดะฮฺภักดีต่อพระองค์ การชุโกรฺนั้นถือเป็นเป้าหมายโดยตัวมันเอง ในขณะที่การอดทนนั้นเป็นสื่อเพื่อให้บรรลุถึงสิ่งอื่น การชุโกรฺนั้นต้องทำด้วยใจ วาจา และการประพฤติ ความหมายของการชุโกรฺก็คือการที่ท่านใช้นิอฺมัตของอัลลอฮฺเพื่อการเชื่อฟังและภักดีต่อพระองค์

    ­ อัศ-ศ็อบรฺ (การอดทน) คือ ละทิ้งการร้องทุกข์ถึงความเจ็บปวดไปยังผู้อื่นนอกเหนือจากพระองค์อัลลอฮฺ และหันไปร้องทุกข์แด่พระองค์เพียงผู้เดียว พระองค์ได้ตรัสว่า

    ﮋ ﰓ ﰔ ﰕ ﰖ ﰗ ﰘ ﮊ

    ความว่า “แท้จริงบรรดาผู้อดทนนั้น จะได้รับการตอบแทนรางวัลของพวกเขาอย่างสมบูรณ์โดยไม่ต้องคำนวณ " (สูเราะฮฺ อัซ-ซุมัรฺ 10 )

    และท่านนบี e ได้กล่าวว่า

    «وَمَنْ يَتَصَبَّرْ يُصَبِّرْهُ اللهُ وَمَا أُعْطِيَ أَحَدٌ عَطَاءً خَيْرًا وَأَوْسَعَ مِنْ الصَّبْرِ»

    ความว่า “ผู้ใดที่มีความอดทนโดยไม่เสแสร้ง อัลลอฮฺ จะเพิ่มความอดทนให้แก่เขา และไม่มีผู้ใดรับมอบสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จะดีกว่าการได้รับมอบความอดทน" (มุตตะฟักกุน อะลัยฮฺ )

    การอดทนนั้น มีหลายระดับ

    ระดับต่ำ คือละทิ้งการร้องทุกข์พร้อมกับรังเกียจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

    ระดับกลาง คือ ละทิ้งการร้องทุกข์พร้อมกับพอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขา

    ระดับสูง คือ การขอบคุณพระองค์สำหรับบะลาอ์(บททดสอบ)ในชีวิต ส่วนผู้ใดที่ถูกอธรรมหรือถูกรังแกแล้วเขาก็ขอดุอาอ์ให้ผู้กระทำประสบผลร้าย แสดงว่าเขาได้ชำระแค้นสำหรับตัวเขา และได้เอาสิทธิของเขาไปแล้ว และไม่ได้เรียกว่าเขาเป็นคนซอบัรฺที่อดทน

    การอดทนมีสองประเภท

    1) การอดทนด้านร่างกาย ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เราหมายถึง ณ ที่นี้

    2) การอดทนด้านจิตใจต่อความปรารถนาของสันดานและความต้องการของอารมณ์ใฝ่ต่ำ[6]

    ทุกอย่างที่มนุษย์ประสบมาในโลกนี้จะหนีไม่พ้นสองประการนี้ คือ

    ก) สิ่งที่สอดคล้องกับอารมณ์ใฝ่ต่ำ ซึ่งแน่นอนต้องมีความอดทนในการทำหน้าที่ภักดีต่ออัลลอฮฺในสิ่งเหล่านั้น ด้วยการขอบคุณและไม่ใช้มันในทางที่เป็นมะอฺศิยัต

    ข) สิ่งที่ขัดแย้งกับอารมณ์ใฝ่ต่ำ มีสามประเภท

    1) การอดทนในการทำความดีต่อพระองค์ ส่วนที่เป็นวาญิบคือการทำสิ่งที่เป็นฟัรฎู ส่วนที่ส่งเสริมก็คือให้ทำสิ่งที่เป็นสุนัต

    2) อดทนต่อสิ่งที่เป็นมะอฺศิยัตหรือการฝ่าฝืนอัลลอฮฺ ส่วนที่เป็นวาญิบก็คือละทิ้งสิ่งที่หะรอม และที่ส่งเสริมก็คือให้ละทิ้งสิ่งที่เป็นมักรูฮฺ

    3) อดทนต่อสภาวะการกำหนดของพระองค์อัลลอฮฺ ส่วนที่เป็นวาญิบก็คือห้ามลิ้นจากร้องโอดครวญ ห้ามใจไม่ให้โมโหต่อลิขิตของอัลลอฮฺ ห้ามร่างกายไม่ให้กระทำในสิ่งที่อัลลอฮฺไม่พึงประสงค์ เช่น การร้องเสียงดัง การฉีกเสื้อผ้า การตบหน้าตัวเอง อย่างนี้เป็นต้น และส่วนที่ส่งเสริมก็คือการพอใจในสิ่งที่พระองค์ได้กำหนดมาแล้ว

    บุคคลใดประเสริฐกว่าระหว่างคนรวยที่ขอบคุณ กับคนจนที่มีความอดทน ?

    คำตอบก็คือ หากว่าคนรวยใช้เงินของเขาในการภักดีต่อพระองค์ หรือเก็บออมเพื่อหนทางของพระองค์ เขาจะดีกว่าคนจน และหากว่าคนรวยใช้เงินของเขาส่วนใหญ่ในการงานที่มุบาห์(สิ่งที่อนุญาตให้ใช้ได้ตามปกติ) แน่นอนว่า คนจนนั้นจะดีว่าคนรวย ท่านนบี e ได้กล่าวว่า

    «الطَّاعِمُ الشَّاكِرُ كَالصَّائِمِ الصَّابِرِ»

    ความว่า “ผู้มีจะกินที่รู้จักขอบคุณ เทียบเท่าคนถือศีลอด(ผู้ไม่มีจะกิน)ที่มีความอดทน" (รายงานโดย อะห์มัด)

    ­ อัร-ริฎอ (ความพอใจ) คือ ความพึงพอใจกับสิ่งที่มีและพอเพียงกับมัน มันจะเกิดขึ้นหลังจากที่มีเรื่องต่างๆ เกิดขึ้นแล้ว และการริฎอต่อสภาวะการกำหนดของพระองค์อัลลอฮฺนั้นเป็นสถานะอันสูงสุดสำหรับผู้ใกล้ชิดพระองค์ และมันเป็นผลของความรักและการตะวักกัล และการขอดุอาอ์ให้อัลลอฮฺปัดเป่าสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ไม่ได้ขัดแย้งการริฎอหรือพอใจต่อพระองค์

    ­ อัล-คุชูอฺ คือ การเชิดชู อ่อนน้อม และถ่อมตน ท่านหุซัยฟะฮฺ t ได้กล่าวว่า “พึงระวังการ คุชูอฺแบบนิฟาก(คนหน้าไหว้หลังหลอก) ครั้นมีผู้ถามท่านว่า อะไรล่ะคือคุชูอฺแบบนิฟาก ? ท่านบอกว่า เมื่อท่านเห็นร่างกายนอบน้อม และจิตใจกลับไม่ได้นอมน้อมถ่อมตัวเหมือนกับร่างกาย" และท่านได้กล่าวอีกว่า “สิ่งแรกที่จะสาบสูญหายไปจากศาสนาของพวกท่านนั้นคือ การคุชูอฺ" และการงานใดก็ตามที่มีบัญญัติให้มีการคุชูอฺประกอบอยู่ด้วย แท้จริงแล้วผลบุญของการงานนั้นก็จะได้รับตามที่เขาคุชูอฺมากน้อยเพียงใด เช่น การละหมาด แท้จริงท่านนบีได้กล่าวสำหรับผู้ที่ละหมาดว่า เขาจะไม่ได้ผลบุญนอกจากครึ่งของมัน หรือเศษหนึ่งส่วนสี่ หรือเศษหนึ่งส่วนห้า หรือเศษหนึ่งส่วนสิบ และอาจไม่ได้รับผลบุญเลยแม้แต่น้อย เนื่องจากละหมาดของเขาปราศจากคุชูอฺ

    ­ อัร-เราะญาอ์ (การหวัง) คือ การมองและคิดถึงความเมตตาของอัลลอฮฺอันกว้างใหญ่ไพศาล ตรงข้ามของมันคือหมดหวัง และการงานที่ทำบนความหวังมันจะสูงกว่าการงานที่ทำบนความเกรงกลัว เพราะว่าการงานเพื่อรอความหวังนั้น จะส่งผลให้เกิดการคิดในแง่ดีต่ออัลลอฮฺ ดังที่พระองค์ได้ตรัสในหะดีษกุดสีย์ว่า ความว่า “ข้าอยู่เคียงข้างกับบ่าวที่คิดในแง่ดีต่อข้า" (รายงานโดย มุสลิม)

    การหวังนั้นมีสองระดับ

    ระดับสูง คือผู้ที่ปฏิบัติความดีและหวังผลบุญการตอบแทนจากพระองค์อัลลอฮฺ ท่านหญิง อาอิชะฮฺ รอฎิยัลลอฮุ อันฮา ได้กล่าวว่า “โอ้ท่านรอซูลุลลอฮฺ ในอายะฮฺที่ว่า

    ﱹﭑ ﭒ ﭓ ﭔ ﭕ ﭖﱸ

    ความว่า และบรรดาผู้ที่บริจาคสิ่งที่พวกเขาได้มาโดยที่จิตใจของเขาเปี่ยมด้วยความหวั่นเกรง (อัล-มุอ์มินูน 60)

    เขาผู้คือที่ลักขโมย และผิดประเวณี และดื่มสิ่งมึนเมา และเขาเกรงกลัวอัลลอฮฺว่าจะทรงลงโทษเขาใช่หรือไม่ ? ท่านนบีก็ได้ตอบว่า

    «لا يَا بِنْتَ الصِّدِّيقِ وَلَكِنَّهُمْ الَّذِينَ يَصُومُونَ وَيُصَلُّونَ وَيَتَصَدَّقُونَ وَهُمْ يَخَافُونَ أَنْ لا يُقْبَلَ مِنْهُمْ ﱹﭜ ﭝ ﭞ ﭟﱸ »

    ความว่า “ไม่ใช่เช่นนั้นหรอก โอ้ลูกของอัศ-ศิดดีก แต่มันหมายความว่า เขาเหล่านั้น ได้ทำการละหมาด ถือศีลอด บริจาคทาน และเขาเหล่านั้น กลัวว่าจะไม่ถูกตอบรับจากพระองค์ต่างหาก พวกเขาคือบรรดาผู้ที่รีบเร่งในการทำความดี" (รายงานโดย อัต-ติรมีซีย์)

    ระดับต่ำ คือผู้ที่ทำบาปและได้กลับตัวและหวังการอภัยโทษจากพระองค์ ส่วนผู้ที่ทำบาปแต่ไม่ได้เตาบัต และยังหวังการอภัยโทษจากพระองค์ เช่นนี้เรียกว่า “ตะมันนี" (คาดหวังลมๆแล้งๆ) ไม่ใช่เป็นการเราะญาอ์แต่อย่างใด การหวังประเภทนี้เป็นสิ่งน่าตำหนิ ส่วนการหวังแบบอย่างแรกนั้นเป็นสิ่งที่น่ายกย่อง น่าสรรเสริญ และมุอ์มินที่แท้จริงจะรวบรวมระหว่างการทำดีกับความเกรงกลัวคู่กัน ส่วนคนมุนาฟิกนั้นจะรวบรวมระหว่างการทำความชั่วกับความรู้สึกว่าตัวเองปลอดภัย

    ­ อัล-เคาฟฺ (ความกลัว) คือภาวะความกังวลที่เกิดขึ้นกับจิตใจเพราะเกรงว่าจะเกิดสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ แต่ถ้าหากแน่ใจว่าจะเกิดสิ่งไม่พึงประสงค์นั้นเรียกว่า “ค็อชยะฮฺ" ตรงกันข้ามของมันก็คือ อัล-อัมน์ หรือความรู้สึกว่าปลอดภัย อัล-เคาฟฺนั้นไม่ได้ตรงกันข้ามกับ อัร-เราะญาอ์ หรือการหวัง ทว่ามันเป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดการสำรวม ส่วนการหวังนั้นกระตุ้นให้เกิดการกระตือรือร้นและปรารถนา และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรวมทั้งความรัก ความกลัว และความหวัง ให้มีอยู่พร้อมด้วยกันในตัวของเรา ท่านอิบนุ อัล-ก็อยยิม ได้กล่าวว่า “หัวใจนั้นเดินทางไปหาอัลลอฮฺเสมือนกับนกที่บินอยู่บนฟ้า ความรักเป็นหัว ความกลัวและความหวังนั้น เป็นปีกทั้งสองข้างของนก หากว่าความกลัวได้สถิตอยู่ในใจแล้ว มันจะเผาผลาญส่วนที่เป็นอารมณ์ใฝ่ต่ำ และขับไล่ดุนยาออกไปจากมัน"

    ความกลัวที่เป็นวาญิบ: คือ ส่วนที่ส่งผลให้ทำในสิ่งที่ดีและละทิ้งสิ่งชั่วร้ายต่างๆ

    ความกลัวที่สุนัต: คือ ส่วนที่ส่งผลให้ทำสิ่งที่สุนัตและละทิ้งสิ่งที่น่ารังเกียจ(มักรูฮฺ)

    ความกลัวมีหลายประเภท คือ

    1) การกลัวสิ่งเร้นลับและอำนาจที่มองไม่เห็น ซึ่งวาญิบจะต้องกลัวอัลลอฮฺองค์เดียวเท่านั้น เพราะว่าการกลัวต่อสิ่งอื่นนอกจากพระองค์เป็นชิริกใหญ่ เช่น กลัวต่อบรรดาสิ่งเคารพของของพวกมุชริกีน ว่ามันจะให้อันตรายต่างๆ นานา

    2) การกลัวที่เป็นหะรอม คือการทำสิ่งวาญิบหรือละทิ้งสิ่งที่เป็นหะรอมเพราะเกรงกลัวมนุษย์ด้วยกัน

    3) การกลัวที่อนุญาตหรืออนุโลม คือการกลัวปกติทั่วไป เช่น กลัวสัตว์ร้ายเช่นหมาป่า เป็นต้น

    ­ อัซ-ซุฮดฺ (ความสมถะ) นั่นก็คือ การหันหลังให้กับบางสิ่งบางอย่างเพื่อให้ความสำคัญกับสิ่งที่ประเสริฐกว่า และความสมถะทางโลกนั้นจะช่วยผ่อนคลายจิตใจและร่างกาย และการมุ่งมาดไขว่คว้าหาดุนยานั้นก่อให้เกิดความทุกข์และกังวลเพิ่มมากขึ้น การรักชีวิตโลกเป็นบ่อเกิดแห่งความเลวร้ายทั้งปวง และการไม่ชอบมันเป็นสาเหตุของการเชื่อฟังทั้งปวง และความสมถะต่อดุนยานั้นคือการนำมันออกจากหัวใจ ไม่ใช่เอาออกจากมือแต่จิตใจยังไขว่คว้าต้องการอยู่ เช่นนี้คือความสมถะของคนโง่เขลา ท่านนบี e ได้กล่าวว่า

    «نِعْمَ الْمَالُ الصَّالِحُ لِلْمَرْءِ الصَّالِحِ»

    ความว่า “ทรัพย์สมบัติที่ดี คู่ควรกับชายที่ดี" (รายงานโดย อะห์มัด)

    และสำหรับคนยากจนนั้นมีความสัมพันธ์กับทรัพย์สมบัติอยู่ห้าประเภท

    1) คนที่หันหลังและไม่อยากได้เงินทองเพราะเกลียด กลัวและป้องกันตัวเองว่าจะมีปัญหาและยุ่งกับเงินทอง คนประเภทเรียกว่า “ซาฮิด" (คนสมถะ)

    2) คนที่ไม่รู้สึกดีใจเมื่อได้มันมาครอบครอง และก็ไม่ได้เกลียดจนเป็นภัยต่อตัวเอง คนประเภทนี้เรียกว่า “รอฎีย์ "(ผู้ที่พอใจ)

    3) คนที่เมื่อมีทรัพย์จะรู้สึกชอบและดีกว่าไม่มี เพราะความที่ตัวเองชอบมัน แต่ไม่เลยเถิดจนต้องไปควานหามันหากว่าไม่มี ทว่าถ้าหากมันมีมาเองก็จะรับไว้และดีใจ คนประเภทนี้เรียกว่า “กอนิอฺ" (ผู้พอเพียง)

    4) คนที่ไม่ได้หามันเพราะความอ่อนแอของเขา แต่ทว่าจริงๆ แล้วเขาเป็นคนที่อยากได้มัน และถ้าหากเขามีหนทางที่จะหามาได้เขาย่อมเหน็ดเหนื่อยเพื่อหามันมาให้ได้ คนประเภทนี้เรียกว่า “หะรีศ" (คนมักได้)

    5) คนที่มีความจำเป็นต่อเงินทอง เช่น คนที่หิว คนที่ไม่มีเสื้อผ้าใส่ คนประเภทนี้เรียกว่า “มุฎฏ็อรฺ" (คนที่มีความจำเป็น)



    [1] ท่านนบี e ได้กล่าวว่า

    «فَمَنْ هَمَّ بِحَسَنَةٍ فَلَمْ يَعْمَلْهَا كَتَبَهَا اللهُ لَهُ عِنْدَهُ حَسَنَةً كَامِلَةً فَإِنْ هُوَ هَمَّ بِهَا فَعَمِلَهَا كَتَبَهَا اللهُ لَهُ عِنْدَهُ عَشْرَ حَسَنَاتٍ إِلَى سَبْعِ مِائَةِ ضِعْفٍ إِلَى أَضْعَافٍ كَثِيرَةٍ وَمَنْ هَمَّ بِسَيِّئَةٍ فَلَمْ يَعْمَلْهَا كَتَبَهَا اللهُ لَهُ عِنْدَهُ حَسَنَةً كَامِلَةً فَإِنْ هُوَ هَمَّ بِهَا فَعَمِلَهَا كَتَبَهَا اللهُ لَهُ سَيِّئَةً وَاحِدَةً»

    ความว่า “ผู้ใดที่มีเจตนาจะทำดี แต่ไม่ได้ทำ อัลลอฮฺ จะจารึกผลบุญให้เขาหนึ่งผลบุญ โดยไม่ขาดแม้แต่น้อย และหากว่าเขามีเจตนาดี พร้อมกับทำในสิ่งที่เขาเจตนาไว้ พระองค์จะจารึกให้เขาสิบผลบุญ จนถึงเจ็ดร้อยผลบุญ หรือมากกว่านั้น และหากว่าเขามีเจตนาไม่ดี แต่ไม่ได้ทำสิ่งนั้น พระองค์จะจารึกผลบุญให้เขาหนึ่งผลบุญ แต่หากว่าเขาเจตนาไม่ดี แล้วทำสิ่งที่เขาได้เจตนา พระองค์จะจารึกให้เขาหนึ่งบาป" (มุตตะฟะกุน อะลัยฮฺ) และท่านได้กล่าวอีกว่า

    « مَثَلُ هَذِهِ الأُمَّةِ كَمَثَلِ أَرْبَعَةِ نَفَرٍ: رَجُلٌ آتَاهُ اللهُ مَالاً وَعِلْمًا فَهُوَ يَعْمَلُ بعِلْمِهِ فِي مَالِهِ يُنْفِقُهُ فِي حَقِّهِ، وَرَجُلٌ آتَاهُ اللهُ عِلْمًا وَلَمْ يُؤْتِهِ مَالاً فَهُوَ يَقُولُ لَوْ كَانَ لِي مِثْلُ هَذَا عَمِلْتُ فِيهِ مِثْلَ الَّذِي يَعْمَلُ، قَالَ رَسُولُ اللهِ e: فَهُمَا فِي الأَجْرِ سَوَاءٌ، وَرَجُلٌ آتَاهُ اللهُ مَالاً وَلَمْ يُؤْتِهِ عِلْمًا فَهُوَ يَخْبِطُ فِي مَالِهِ يُنْفِقُهُ فِي غَيْرِ حَقِّهِ، وَرَجُلٌ لَمْ يُؤْتِهِ اللهُ عِلْمًا وَلا مَالاً فَهُوَ يَقُولُ: لَوْ كَانَ لِي مِثْلُ هَذَا عَمِلْتُ فِيهِ مِثْلَ الَّذِي يَعْمَلُ قَالَ رَسُولُ اللهِ e: فَهُمَا فِي الْوِزْرِ سَوَاءٌ»

    ความว่า “อุปมาประชาชาตินี้ (คือ ประชาชาติอิสลาม) เสมือนกับคนสี่คน คนแรก ชายที่อัลลอฮฺประทานสมบัติและวิชาความรู้ และเขาก็ได้ปฏิบัติในสิ่งเขาได้ร่ำเรียนมาและบริจาคเงินทองในแนวทางของพระองค์ คนที่สอง ชายที่พระองค์ประทานวิชาความรู้ แต่ไม่ได้ประทานทรัพย์สมบัติให้เขา เขาก็กล่าวว่า หากว่าพระองค์ให้สมบัติฉัน ฉันจะทำเหมือนเขา(คือ จะบริจาคเหมือนคนแรก) ท่านนบี e ได้กล่าวว่า “คนสองคนนี้ มีผลบุญเท่าเทียมกัน" คนที่สาม ชายที่พระองค์ประทานทรัพย์สมบัติให้เขา แต่ไม่ได้ประทานวิชาความรู้ เขาเกิดความตระหนี่ และใช้จ่ายในแนวทางที่ไม่พึงประสงค์ คนที่สี่ ชายที่พระองค์ไม่ได้ประทานวิชาความรู้ และไม่ได้ประทานทรัพย์สมบัติให้เขาเลย เขาก็กล่าวว่า หากว่าฉันมีเหมือนคนนั้น ฉันจะทำเหมือนเขา(คือ ทำเหมือนคนที่สาม) ท่านนบี e ได้กล่าวว่า “คนสองคนนี้ มีผลบาปเท่าเทียมกัน" (บันทึกโดย อัต-ตัรมีซีย์) คำพูดของคนที่สองกับคนที่สี่นั้นได้ทำเท่าที่เจ้าตัวสามารถทำได้ นั่นคือตั้งเจตนาพร้อมกับการหวังที่จะทำ ซึ่งปรากฏชัดจากคำพูดของทั้งสองที่ว่า “ถ้าฉันมีเหมือนเขา ฉันจะทำเหมือนที่เขาได้ทำ" ดังนั้น ที่ถูกต้องก็คือ เขาจะได้รับบุญหรือบาปเหมือนกับเพื่อนของเขาด้วย อิบนุ เราะญับ เราะฮิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า “ในหะดิษที่ว่า คนสองคนนี้ มีผลบุญเท่าเทียมกัน บ่งบอกถึงเท่าเทียมของผลบุญจากการงานที่ปฏิบัติ โดยไม่มีการเพิ่มพูน เพราะว่าการเพิ่มพูนนั้นให้เฉพาะผู้ที่ปฏิบัติ แต่ไม่ใช่ผู้ที่เจตนาแล้วไม่ได้ปฏิบัติ หากว่าสองคนนี้ เท่าเทียมในทุกแง่มุม แน่นอนพระองค์คงจะจารึกผลบุญ สำหรับผู้ที่เจตนาแต่ไม่ได้กระทำสิ่งที่เขาเจตนาถึงสิบผลบุญ แต่มันก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น"

    [2] อัลลอฮฺ ได้ตรัสว่า ﮬ ﮭ ความว่า “และข้าพระองค์ได้รีบเร่งมายังพระองค์เท่านั้น โอ้พระเจ้าของฉัน ก็เพื่อพระองค์ทรงพอพระทัยเท่านั้น" และนบีมูซาเร่งรีบเพื่อมาพบกับพระองค์ และเพื่อให้พระองค์ทรงพอพระทัยแก่เขา ไม่ใช่เพื่อตอบรับคำบัญชาของพระองค์เท่านั้น เช่นเดียวกันนั้น การทำดีต่อบิดามารดา ถ้าระดับต่ำหน่อย ทำดีต่อท่านทั้งสองเพราะว่ากลัวต่อโทษทันฑ์ของพระองค์และเพื่อให้ได้ผลบุญเท่านั้น ถ้าระดับปานกลาง ทำดีต่อท่านทั้งสองเพราะคำสั่งของพระองค์ และตอบแทนความดีงามที่ท่านทั้งสองได้เลี้ยงดูครั้งเมื่อเยาว์วัย และท่านทั้งสองเป็นเหตุให้คุณเกิดมามองโลก ระดับสุงสุด และดีที่สุด คือทำดีต่อท่านทั้งสองนั้น เพื่อยกย่องและเชิดชูคำสั่งของพระองค์ที่สั่งให้ทำดีกับท่านทั้งสอง และด้วยความรักใคร่และยกย่องพระองค์อัลลอฮฺ I

    [3] มีรายงานว่า ท่านนบี e ได้กล่าวว่า

    « الدَّوَاوِينُ عِنْدَ اللهِ ﷻ‬ثَلاَثَةٌ: دِيوَانٌ لاَ يَعْبَأُ اللهُ بِهِ شَيْئًا، وَدِيوَانٌ لاَ يَتْرُكُ اللهُ مِنْهُ شَيْئًا، وَدِيوَانٌ لاَ يَغْفِرُهُ اللهُ. فَأَمَّا الدِّيوَانُ الَّذِي لاَ يَغْفِرُهُ اللهُ، فَالشِّرْكُ بِاللَّهِ, قال اللهُ ﷻ‬: ﱹ ﭺ ﭻ ﭼ ﭽ ﭾ ﭿ ﮀ ﮁ ﮂ ﮃ ﮄﮅ ﱸ وَأَمَّا الدِّيوَانُ الَّذِي لاَ يَعْبَأُ اللهُ بِهِ شَيْئًا، فَظُلْمُ الْعَبْدِ نَفْسَهُ فِيمَا بَيْنَهُ وَبَيْنَ رَبِّهِ... فَإِنَّ اللهَ ﷻ‬ يَغْفِرُ ذَلِكَ وَيَتَجَاوَزُ إِنْ شَاءَ، وَأَمَّا الدِّيوَانُ الَّذِي لاَ يَتْرُكُ اللهُ مِنْهُ شَيْئًا، فَظُلْمُ الْعِبَادِ بَعْضِهِمْ بَعْضا، الْقِصَاصُ لاَ مَحَالَةَ »

    ความว่า “สมุดบันทึก ณ อัลลอฮฺนั้นมีสามประเภท ประเภทหนึ่งคือสมุดที่อัลลอฮฺไม่ทรงสนพระทัยเลย ประเภทหนึ่งคือสมุดที่พระองค์ไมทรงละเลยมันเลย และอีกประเภทหนึ่งคือสมุดที่พระองค์ไม่ทรงอภัยให้ สมุดประเภทที่อัลลอฮฺไม่ทรงอภัยให้คือการชิริกหรือตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ ที่พระองค์ได้ตรัสความว่า “แท้จริงแล้ว ผู้ใดที่ตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ แน่นอนพระองค์ได้ห้ามสวรรค์สำหรับเขา และเขาต้องตกนรก" ส่วนสมุดที่อัลลอฮฺไม่ทรงสนพระทัยคือสมุดบันทึกการทำความผิดของบ่าวต่อตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องระหว่างเขากับพระผู้อภิบาลของเขา เพราะพระองค์จะทรงอภัยให้เขาและทรงละเลยมันไปหากพระองค์ทรงประสงค์ ส่วนสมุดที่พระองค์ไม่ทรงละเลยมันเลยคือ การที่บ่าวก่ออธรรมต่อคนอื่น ซึ่งมันจะต้องมีการลงโทษทดแทนชดใช้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้" (บันทึกโดย อะห์มัด ในสายรายงานมีเหตุที่ทำให้เป็นหะดีษอ่อนอยู่ด้วย)

    [4] มนุษย์นั้นเกี่ยวกับความรักและความเกลียด(อัล-วะลาอฺและอัล-บะรออ์) มี 3 ประเภท 1) ผู้ที่เราต้องรักใคร่อย่างแน่นแฟ้น โดยไม่มีความเกลียดชังเลย เขาเหล่านั้นคือ บรรดานบีทั้งหลาย บรรดาผู้ซื่อสัตย์ โดยเฉพาะแบบอย่างของเรา ท่านนบีมุหัมมัด e และภรรยา วงศ์ศาคณาญาติของท่าน และเศาะหาบะฮฺ 2) ผู้ที่เราต้องเกลียดชังตลอดเวลา เขาเหล่านั้นคือ บรรดาชาวกาฟิรทั้งหลาย และบรรดามุชรีกีน ตลอดจนพวกมุนาฟิกีน 3) ผู้ที่เราต้องมีทั้งความรักใคร่และมีความเกลียดอยู่ด้วย เขาเหล่านั้นคือ บรรดาคนที่ทำมะอฺศิยัตในหมู่มุอ์มินทั้งหลาย มีความรักก็เพราะด้วยการที่เขามีอีมาน และมีความเกลียดก็เพราะด้วยการที่เขามีมะอฺศิยัตอยู่ ส่วนการรักใคร่กาฟิรฺและวะลาอ์ต่อพวกเขานั้นมีสองประเภทคือ 1) ความรักที่ทำให้เราตกศาสนาและออกจากความเป็นมุสลิม นั่นคือรักและวะลาอ์ต่อพวกเขาในเรื่องเกี่ยวกับศาสนา 2) สิ่งที่อยู่ในระดับหะรอมแต่ไม่ทำให้ตกศาสนา นั่นคือการวะลาอ์ในเรื่องที่เกี่ยวกับเรื่องดุนยาของพวกเขา และบางทีบางครั้งก็มีความสับสนระหว่างคำว่าการปฏิบัติด้วยดีต่อกาฟิรที่ไม่ใช่คู่สงคราม กับคำสั่งที่ใช้ให้เราเกลียดและปลีกตัวจากพวกเขา และจำเป็นต้องแยกแยะระหว่างสองอย่างนี้ คือ การที่ยุติธรรมต่อพวกเขา การปฏิบัติดีต่อพวกเขาโดยไม่ได้ซ่อนความรักเอาไว้ในใจ เช่นการแสดงความอ่อนโยนกับผู้อ่อนแอในหมู่พวกเขา การพูดอย่างนิ่มนวลกับพวกเขาในทางเอ็นดูและเมตตาต่อพวกเขานั้น เป็นสิ่งที่อนุญาตให้ทำได้ เพราะอัลลอฮฺได้ตรัสว่า

    ﱹﭹﭺ ﭻ ﭼ ﭽ ﭾﭿﮀﮁ ﮂ ﮃ ﮄ ﮅ ﮆ ﮇ ﮈ ﮉ ﱸ

    ความว่า “อัลลอฮฺไม่ได้ห้ามพวกเจ้าจากบรรดาผู้ที่ไม่ได้ก่อสงครามกับพวกเจ้าในเรื่องศาสนาและไม่ได้ขับไล่พวกเจ้าออกจากบ้านเรือนของพวกเจ้า ในการที่พวกเจ้าจะทำดีและปฏิบัติอย่างยุติธรรมต่อพวกเขา"

    ส่วนการเกลียดและเป็นศัตรูต่อพวกเขานั้นเป็นอีกเรื่อง ซึ่งอัลลอฮฺได้สั่งว่า

    ﱹ ﭑﭒﭓﭔ ﭕ ﭖﭗ ﭘ ﭙ ﭚ ﭛ ﱸ

    ความว่า “โอ้ บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย อย่าได้เอาศัตรูของข้าและของเจ้าเป็นสหายใกล้ชิด โดยที่พวกเจ้าโยนความรักใคร่ให้แก่พวกเขา"

    ดังนั้น จึงเป็นไปได้ที่จะรวมระหว่างการยุติธรรมในการปฏิสัมพันธ์กับพวกเขา พร้อมกับๆ การเกลียดชังและไม่รักพวกเขาเนื่องจากการปฏิเสธศรัทธาของพวกเขา เช่นที่ท่านนบี e เคยปฏิบัติกับยิวในเมืองมะดีนะฮฺ

    [5] มูลเหตุจะขัดแย้งกับการมอบหมาย(ตะวักกัล)หรือไม่ ? มีหลายกรณี 1) การแสวงหาสิ่งที่ยังไม่มี มีสองประเภท ก) มูลเหตุที่แน่ใจ เช่น การแต่งงานเป็นสาเหตุของการได้ลูก หากว่าทิ้งสาเหตุ(คือการแต่ง)แล้วบอกว่าจะมีลูก คนนั้นย่อมสติไม่ดี และมันไม่ใช่การมอบหมายแต่อย่างใด ข) มูลเหตุที่ไม่ค่อยแน่ใจ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วไม่มีมันไม่ได้ เช่น คนที่เดินทางในทะเลทรายโดยไม่มีเสบียงอาหาร ทำเช่นนี้มันไม่ได้เป็นการมอบหมายแต่อย่างใด เนื่องจากเสบียงนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นและถูกสั่งใช้ให้เตรียมสำหรับเดินทาง แท้จริงท่านนบี e ตอนที่ท่านต้องการจะเดินทางท่านเตรียมพร้อมเสบียง แล้วได้เช่าคนนำทาง(ไกด์)เพื่อนำทางให้ท่านเดินทางไปยังมหานครมะดีนะฮฺ ค) มูลเหตุที่คิดว่าจะนำไปสู่ผลแต่ก็ไม่ใช่ด้วยความแน่ใจที่ชัดเจน เช่น ผู้ที่ลงมือทำตามรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ ในการทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพ สิ่งนี้จะไม่ออกไปจากการตะวักกัล ทว่าการละทิ้งการทำงานนั้นไม่ถือว่าเป็นตะวักกัล ท่านอุมัร t กล่าวว่า ผู้ที่ตะวักกัลคือผู้ที่พบสิ่งที่เขาชอบในแผ่นดิน(ด้วยการทำงานและไขว่คว้าหามา) และเขาก็มอบหมายต่ออัลลอฮฺ 2) การรักษาสิ่งที่มีอยู่แล้ว หากว่าผู้ใดมีอาหารที่หะลาล แล้วได้เก็บรักษาเอาไว้ นั่นก็ไม่ได้ออกไปจากขอบเขตของตะวักกัล โดยเฉพาะถ้าเขามีครอบครัว ท่านนบี e เคยขายสวนอินทผลัมบนีนะฎีรและเคยเก็บอาหารไว้กินตลอดปีสำหรับครอบครัวของท่าน (มุตตะฟักกุน อะลัยฮฺ ) 3) การป้องกันสิ่งให้โทษที่ยังไม่ประสบพบเจอ ไม่ใช่เงื่อนไขของตะวักกัล ในการที่ท่านจะต้องละทิ้งมูลเหตุที่ช่วยป้องกันท่านจากอันตราย เช่น การส่วมใส่เสื้อเกราะในสงคราม การผูกอูฐกับเชือก ทั้งหมดนี้คือการตะวักกัลต่ออัลลอฮฺผู้สร้างมูลเหตุ ไม่ใช่เป็นการพึ่งมูลเหตุเพียงอย่างเดียว และต้องพอใจกับสิ่งที่อัลลอฮฺกำหนดมาแก่เขา 4) แก้ไขสิ่งที่เป็นโทษซึ่งได้ประสบแล้ว มี 3 ประเภท ก) ต้องแน่ใจว่าสิ่งนั้นสามารถแก้ได้ เช่น น้ำสามารถแก้หรือดับกระหาย การละทิ้งการดื่มน้ำไม่ได้เป็นการตะวักกัลแต่ประการใด ข) ค่อนข้างแน่ใจว่าสิ่งนั้นจะสามารถแก้ได้ เช่น การกรอกเลือดเพื่อรักษา สิ่งนี้ไม่ได้ขัดแย้งกับการตะวักกัล เพราะว่าท่านนบี e ได้รักษาโรคต่างๆ และได้กำชับให้มีการเยียวยารักษาจากโรคต่างๆ หากว่าเจ็บไข้ได้ป่วย ค) มูลเหตุที่คาดเดาและไม่แน่ใจ เช่น การจี้ไฟในสภาพที่ร่างกายยังแข็งแรงดีเพื่อหวังป้องกันไม่ให้เป็นโรค การทำเช่นนี้มันจะขัดแย้งกับการตะวักกัล

    [6] ประเภทนี้ หากว่าเป็นการอดทนต่อความต้องการเกี่ยวกับปากท้องหรือความต้องการทางเพศ จะเรียกว่า “ อิฟฟะฮฺ " หากว่าเป็นการอดทนในการต่อสู้ในสงคราม เรียกว่า “ชุญาอะฮฺ" หากว่าอดทนในการระงับความโกรธเรียกว่า “หิลมฺ" หากว่าอดทนในการปกปิดความลับ เรียกว่า “กิตมาน สิรฺ" หากว่าอดทนต่อความสุขสบายในชีวิตที่ขาดหายไป เรียกว่า “ซุฮดฺ" หากว่าอดทนต่อการมีปัจจัยเพียงแค่เล็กๆ น้อยๆ เรียกว่า “เกาะนาอะฮฺ"