×
การอิอฺติกาฟ ความเข้าใจของการอิอฺติกาฟ หุก่มของการอิอฺติกาฟ เงื่อนไขของการอิอฺติกาฟ หุก่มของการอิอฺกาฟสำหรับสตรีที่มัสญิด หุก่มของการบนบานว่าจะอิอฺติกาฟ เวลาเริ่มเข้าและสิ้นสุดอิอฺติกาฟ ข้อปฏิบัติของผู้ที่อิอฺติกาฟ ช่วงเวลาที่ประเสริฐที่สุดเพื่อทำการอิอฺติกาฟ สิ่งที่ทำให้การอิอฺติกาฟเสีย ระยะเวลาของการอิอฺติกาฟ จากหนังสือมุคตะศ็อร อัลฟิกฮิล อิสลามีย์

    การอิอฺติกาฟ

    ﴿الاعتكاف﴾

    ] ไทย – Thai – تايلاندي [

    มุหัมมัด บิน อิบรอฮีม อัตตุวัยญิรีย์

    แปลโดย : ฟัยซอล อับดุลฮาดี

    ผู้ตรวจทาน : ซุฟอัม อุษมาน

    ที่มา : หนังสือมุคตะศ็อร อัลฟิกฮิล อิสลามีย์

    2010 - 1431

    ﴿الاعتكاف﴾

    « باللغة التايلاندية »

    الشيخ محمد بن إبراهيم التويجري

    ترجمة: فيصل عبدالهادي

    مراجعة: صافي عثمان

    المصدر: كتاب مختصر الفقه الإسلامي

    2010 - 1431

    ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ

    การอิอฺติกาฟ

    การอิอฺติกาฟคือ การพำนักอยู่ในมัสญิดเพื่อเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺด้วยวิธีการที่เฉพาะ ทั้งผู้ชายและผู้หญิง

    ความเข้าใจของการอิอฺติกาฟ

    การอิอฺติกาฟคือ การกักตัวเองเพื่ออิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺ ตัดขาดความสัมพันธ์กับมนุษย์ และปล่อยใจให้ว่างจากทุกสิ่งที่ทำให้หันเหออกจากการรำลึกถึงอัลลอฮฺ

    หุก่มของการอิอฺติกาฟ

    การอิอฺติกาฟเป็นสุนัตที่สามารถปฏิบัติได้ในทุกช่วงเวลา และถือว่าใช้ได้โดยไม่ต้องถือศีลอด การอิอฺติกาฟถือเป็นวาญิบหากมีการบนบาน ส่วนการอิอฺติกาฟในเดือนเราะมะฎอนนั้นถือเป็นสุนัต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสิบวันสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอน ทั้งนี้ก็เพื่อแสวงหาคืน "อัล-ก็อดฺรฺ"

    การอิอฺติกาฟในมัสญิดหะรอม มัสญิดนะบะวีย์ และมัสญิดอัล-อักศอ ประเสริฐกว่าการอิอฺติกาฟในมัสญิดอื่นๆ

    หากเขาบนบานว่าจะอิอฺติกาฟในมัสญิดที่มีความประเสริฐมากกว่า ไม่อนุญาตให้เขาไปอิอฺติกาฟในมัสญิดที่มีความประเสริฐน้อยกว่า แต่ถ้าหากเขาบนบานว่าจะอิอฺติกาฟในมัสญิดที่มีความประเสริฐน้อยกว่า อนุญาตให้เขาอิอฺติกาฟในมัสญิดที่มีความประเสริฐมากกว่าได้

    เงื่อนไขของการอิอฺติกาฟ

    เงื่อนไขของการอิอฺติกาฟคือ เป็นมุสลิม ตั้งเจตนาเพื่ออิอฺติกาฟ มัสญิดที่จะอิอฺติกาฟต้องเป็นมัสญิดที่มีการละหมาดญะมาอะฮฺ และหากอิอฺติกาฟพร้อมๆ กับการถือศีลอดย่อมประเสริฐกว่า

    หุก่มของการอิอฺกาฟสำหรับสตรีที่มัสญิด

    เป็นที่บัญญัติให้ผู้หญิงทำการอิอฺติกาฟได้เสมือนกับผู้ชาย ถึงแม้ว่านางจะสะอาดจากประจำเดือน หรือมีประจำเดือน หรือมีเลือดเสีย (อิสติหาเฎาะฮฺ) ก็ตาม แต่นางต้องระวังอย่าให้มัสญิดเลอะเปรอะเปื้อน

    เงื่อนไขสำหรับผู้หญิงที่จะทำการอิอฺติกาฟคือ ผู้ปกครองให้การอนุญาต และการอิอฺติกาฟของนางนั้นไม่ก่อให้เกิดฟิตนะฮฺกับตัวนางและคนอื่น ๆ และผู้ชายจำเป็นที่จะต้องออกห่างจากสถานที่อิอฺติกาฟที่เตรียมไว้เฉพาะสำหรับนาง

    มัสญิดที่ประเสริฐที่สุดคือ

    1. มัสญิดหะรอม การละหมาดในมัสญิดหะรอมมีความประเสริฐกว่าการละหมาดในมัสญิดอื่น ๆ ถึงหนึ่งแสนเท่า

    2. มัสญิดนบี การละหมาดในมัสญิดนบีมีความประเสริฐกว่าการละหมาดในมัสญิดอื่น ๆ หนึ่งพันเท่า

    3. มัสญิดอัล-อักศอ การละหมาดในมัสญิดอัล-อักศอมีความประเสริฐกว่าการละหมาดในมัสญิดอื่น ๆ สองร้อยห้าสิบเท่า

    หุก่มของการบนบานว่าจะอิอฺติกาฟ

    ใครก็ตามที่บนบานว่าจะละหมาดหรืออิอฺติกาฟในมัสญิดหนึ่งมัสญิดใดในสามมัสญิดนั้น จำเป็นที่เขาจะต้องทำตามที่ได้บนบานไว้ดังที่ได้กล่าวข้างต้น

    และหากบนบานว่าจะละหมาดหรืออิอฺติกาฟในที่อื่นนอกจากสามมัสญิดนั้น ไม่จำเป็นที่เขาจะต้องปฏิบัติตามที่ได้บนบาน นอกจากจะมีคุณลักษณะพิเศษทางบทบัญญัติ ดังนั้นกรณีนี้จึงอนุญาตให้เขาละหมาดหรืออิอฺติกาฟในมัสญิดใดทดแทนได้

    เวลาเริ่มเข้าและสิ้นสุดอิอฺติกาฟ

    1. ใครก็ตามที่บนบานว่าจะอิอฺติกาฟในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ ให้เขาเข้าอิอฺติกาฟก่อนคืนของวันนั้น ๆ นั่นคือก่อนตะวันตกดิน และให้ออกจากอิอฺติกาฟหลังจากตะวันตกดินของวันสุดท้ายที่เขาได้บนบาน เช่นการที่เขาบนบานว่า จำเป็นสำหรับฉันที่จะต้องอิอฺติกาฟหนึ่งอาทิตย์ในเดือนเราะมะฎอน เป็นต้น

    2. เมื่อมุสลิมคนหนึ่งมีความประสงค์จะอิอฺติกาฟในช่วงสิบวันสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอน ให้เขาเข้าอิอฺติกาฟก่อนตะวันตกดินของคืนวันที่ 21 และให้ออกจากอิอฺติกาฟหลังจากตะวันตกดินไปแล้วของวันสุดท้ายในเดือนเราะมะฎอน

    ข้อปฏิบัติของผู้ที่อิอฺติกาฟ

    1. ส่งเสริมให้ผู้ที่อิอฺติกาฟหมกมุ่นและมุมานะกับการปฏิบัติศาสนกิจต่าง ๆ เช่น อ่านคัมภีร์อัลกุรอาน รำลึกถึงอัลลอฮฺ ดุอาอ์ ขออภัยโทษ ละหมาดสุนัตต่าง ๆ ละหมาดตะฮัจญุด หลีกเลี่ยงสิ่งที่ไร้สาระไม่ว่าคำพูดหรือการกระทำ

    2. อนุญาตให้ผู้ที่อิอฺติกาฟออกจากมัสญิดที่พำนักอยู่เพื่อถ่ายทุกข์ อาบน้ำละหมาด ละหมาดวันศุกร์ กิน ดื่ม และอื่นๆ เช่น เยี่ยมคนป่วย หรือเดินตามญะนาซะฮฺ (ศพ) ของผู้ที่มีพระคุณหรือมีสิทธิต่อเขา เช่นพ่อแม่ ญาติใกล้ชิด เป็นต้น

    3. อนุญาตให้สตรีเยี่ยมสามีของนางที่อิอฺติกาฟอยู่ และอนุญาตให้พูดคุยกับเขาได้ และผู้ที่เป็นสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนพ้องก็อนุญาติเช่นเดียวกัน

    ช่วงเวลาที่ประเสริฐที่สุดเพื่อทำการอิอฺติกาฟ

    ช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการอิอฺติกาฟคือ สิบวันสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอน และหากมีการยกเลิกอิอฺติกาฟสิบวันสุดท้ายหรือยกเลิกบางส่วน ถือว่าไม่เป็นไร นอกจากจะเป็นการอิอฺติกาฟที่บนบานไว้

    ส่งเสริมให้ทำการอิอฺติกาฟช่วงสิบวันสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอนไม่ว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงก็ตาม

    จากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮา เล่าว่า:

    أَنَّ النَّبِيَّ ﷺ كاَنَ يَعْتَكِفُ العَشْرَ الأَوَاخِرَ مِنْ رَمَضَانَ حَتَّى تَوَفَّاهُ اللهُ تَعَالَى ، ثُمَّ اعْتَكَفَ أَزْوَاجُهُ مِنْ بَعْدِهِ

    ความว่า: ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้อิอฺติกาฟช่วงสิบวันสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอนจนกระทั่งอัลลอฮฺได้เอาชีวิตท่านไป หลังจากนั้นบรรดาภรรยาของท่านก็ได้อิอฺติกาฟหลังจากท่านต่อ (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ เลขที่: 2026 และมุสลิม เลขที่: 1172)

    สิ่งที่ทำให้การอิอฺติกาฟเสีย

    สิ่งที่ทำให้การอิอฺติกาฟเสียคือ การออกจากมัสญิดโดยไม่มีเหตุจำเป็น การร่วมหลับนอนกับภรรยา การตกเป็นมุรฺตัด และการเกิดอาการเมา

    การนอนในมัสญิดในบางครั้งสำหรับผู้ที่มีเหตุจำเป็น เช่นคนเดินทาง คนยากจนที่ไม่มีที่พำนัก ถือว่าอนุญาต ส่วนการยึดเอามัสญิดเป็นที่หลับนอนเลย ถือว่าไม่อนุญาตนอกจากผู้ที่ทำการอิอฺติกาฟ และอื่น ๆ เช่นเดียวกันนี้

    ระยะเวลาของการอิอฺติกาฟ

    อนุญาตให้ทำการอิอฺติกาฟไม่ว่าในช่วงเวลาและระยะเวลานานเท่าไรก็ตาม ไม่ว่าจะหนึ่งคืน หรือหนึ่งวัน หรือหลาย ๆ วัน.

    1. จากท่านอุมัรฺ อิบนุ อัล-ค็อฏฏอบ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ ท่านได้กล่าวว่า:

    يَارَسُوْلَ اللهِ ، إِنِّيْ نَذَرْتُ فِيْ الجَاهِلِيَّةِ أَنْ أَعْتَكِفَ لَيْلَةً فِيْ المَسْجِدِ الحَرَامِ ، فَقَالَ لَهُ النَّبِيِّ ﷺ : «أَوْفِ نَذْرَكَ» فَاعْتَكَفَ لَيْلَةً

    ความว่า: โอ้ท่านเราะสูลุลลอฮฺ แท้จริงฉันได้บนบานในสมัยญาฮิลียะฮฺว่า ฉันจะอิอฺติกาฟคืนหนึ่งในมัสญิดหะรอม แล้วท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็ได้กล่าวแก่ท่านอุมัรฺว่า "ท่านจงทำให้สิ่งที่ท่านบนบานสมบูรณ์เถิด" แล้วเขาก็ได้อิอฺติกาฟหนึ่งคืน. (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ เลขที่: 2042 และสำนวนหะดีษเป็นของท่าน และบันทึกโดยมุสลิม เลขที่: 1656 ในภาคการศรัทธา)

    2. จากท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุ เล่าว่า:

    كَانَ النَّبِيُّ ﷺ يَعْتَكِفُ فِيْ كُلِّ رَمَضَانَ عَشْرَةَ أَيَّامٍ ، فَلَمَّا كَانَ العَامُ الَّذِيْ قُبِضَ فِيْهِ اعْتَكَفَ عِشْرِيْنَ يَوْماً

    ความว่า: ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้อิอฺติกาฟ ทุกๆ เดือนเราะมะฎอนเป็นเวลา 10 วัน แต่เมื่อครั้นปีที่ท่านได้เสียชีวิต ท่านได้อิอฺติกาฟ 20 วัน. (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ เลขที่: 2044)